“ชาญชัย-นิติธร” โร่ร้อง ศาลฯ ไต่สวนบังคับคดี “นักโทษเทวดา” (ทักษิณ) ชี้ “กรมราชทัณฑ์” ทำขัดกฎกระทรวง-ระเบียบยุติธรรม ปี ๖๓ ย้ำ ต้องยึดข้อกำหนดศาลฯ หมวด ๙ ข้อที่ ๖๒ ศาลยกคำร้อง เหตุไม่อยู่ในอำนาจศาลพิจารณาเมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น. วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๖ ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ได้ร่วมยื่นคำร้องต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ไต่สวนในคดีที่ศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินถึงที่สุดแล้ว คือ๑. คดีหมายเลขดำที่ อม.๓/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม.๔/๒๕๕๑ ระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย ซึ่งเป็นคดี ให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา ๔,๐๐๐ ล้านบาท ศาลฯ พิพากษาว่าจำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๒ (เดิม) ลงโทษจำคุกจำเลย ๓ ปี ไม่รอลงอาญา๒. คดีหมายเลขดำที่ อม.๑/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม.๑๐/๒๕๕๒ ระหว่าง คตส. โดย ป.ป.ช. เป็นโจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๗ คน จำเลย ซึ่งเป็นคดีทุจริตโครงการหวยบนดินศาลมีคำพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ให้ติดคุก ๒ ปีโดยไม่รอลงอาญา๓. คดีหมายเลขดำที่ อม.๙/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม.๕/๒๕๕๑ ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายทักษิณ จำเลย ในคดี ให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ป และเข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม สั่งพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ วรรค ๑(๒) และมาตรา ๑๒๒ วรรค ๑ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ (เดิม) ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ๕ ปี นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในก่อนหน้านี้ โดยศาลได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแต่ละคดีแล้วโดยจำเลยหลบหนีไปต่างประเทศเวลา ๑๖ ปีtt ttนายชาญชัย กล่าวต่อว่า แต่กลับปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ ครอบครัวของจำเลย ได้ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับการอภัยโทษ ให้ลดโทษจำคุกจากโทษจำ ๘ ปี ให้เหลือจำคุก ๑ ปี ซึ่งเป็นพระมหากรุณาที่คุณแก่จำเลยและครอบครัวแล้ว แต่เมื่อจำเลยเดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ กลับไม่ได้รับโทษจำคุกจริง โดยมีการอ้างเหตุว่า ป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในรพ.ตำรวจ ชั้น ๑๔ โดยกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นการขัดต่อกฎกระทรวงยุติธรรมและระเบียบปี พ.ศ.๒๕๖๓ อีกด้วย“ดังนั้น พวกผม จึงได้ทำคำร้องนี้ ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวน กรณีมีบุคคล คณะบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ ร่วมกันกระทำให้ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฯ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๒ หมวด ๙ เกี่ยวกับการบังคับคดี ข้อที่ ๖๒ ที่ระบุว่า ‘เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้องหรือคำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดีให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อยสามคนเป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้องหรือคำขอดังกล่าว’ ทั้งนี้ ทั้งสามคดีนี้ ยังอยู่ในอำนาจของศาลฯ ตามคำพิพากษาของศาลฯ อีกทั้งผมเคยทำหน้าที่เป็น อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีต สส. ที่ได้ติดตามตรวจสอบเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอดจึงขอใช้สิทธิให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๔๑ (๓) ที่ระบุให้สิทธิ์ในการฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดชอบเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ” นายชาญชัย กล่าวtt ttต่อมาเวลา ๑๕.๐๐ น.นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสา.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยหลังยื่นคำร้องดังกล่าวว่า หลังตนและนายนิติธรยื่นคำร้องต่อศาลฯ ให้ดำเนินการไต่สวนบังคับคดีตามคำพิพากษาในกรณีดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่า ให้อยู่รอคำสั่งศาลด้วย ซึ่งต่อมา ทางศาลฯได้ออกคำสั่ง ยกคำร้องดังกล่าว โดยระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว การบังคับโทษและการอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฎิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่จำต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง ซึ่งหลังจากนี้ พวกตนต้องมาดูในข้อกฎหมายว่า การบังคับคดีนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลในเรื่องนี้จะอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลใดต่อไป โดยเฉพาะปมปัญหาว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งนิติรัฐ และนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรม