Sunday, 19 January 2025

บรรจุสอบ PISA ในแผนพัฒนาประเทศ กสศ.ชี้ ๓ ปัจจัยปั้นเด็กยากจนสู่ช้างเผือก

21 Dec 2023
141

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ เปิดเผยหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมหารือถึงการยกระดับผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ที่จะสอบในปี ๒๐๒๕ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อม เนื่องจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. ต้องการให้การสอบ PISA ของนักเรียนไทยในปี ๒๐๒๕ จะต้องมีผลคะแนนดีขึ้นทุกวิชา จึงได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยกระดับผลประเมิน PISA พร้อมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งเรื่องการอ่านเด็กไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการอ่านแบบคิดวิเคราะห์ รวมถึงการทำให้เด็กคุ้นเคยการใช้คอมพิวเตอร์ทำข้อสอบ นอกจากนี้ ยังให้สภาการศึกษา (สกศ.) จัดทำแผนยกระดับคะแนน PISA โดยให้อยู่ในแผนพัฒนาประเทศระดับ ๓ ด้วย ที่ประชุมยังได้หารือถึงการยกระดับและส่งเสริมการเรียนการสอนทักษะภาษาอังกฤษของผู้เรียนด้วย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในทุกหน่วยงานสังกัด กระทรวงศึกษาธิการแล้วด้าน ด็อกเตอร์ไกรยส ภัทราวาส ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กสศ.ได้วิเคราะห์เชิงลึกผลสอบ PISA ๒๐๒๒ เด็กไทยที่เข้าสอบ ๘,๐๐๐ กว่าคน มีเพียงร้อยละ ๑ ที่เก่งคณิตศาสตร์ ร้อยละ ๐.๒ การอ่าน และร้อยละ ๐.๖ วิทยาศาสตร์ ทั้งพบเด็กจากครอบครัวยากจนมีคะแนน PISA เฉลี่ยน้อยลง แต่ก็พบว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเด็กช้างเผือก ๒๖๐ คนซึ่งเป็นเด็กยากจน แต่ทำคะแนน PISA ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งเราคาดหวังว่าช้างเผือกเหล่านี้ในอนาคตจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักอ่านที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ แต่จะหลุดจากระบบการศึกษาก่อน หากไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแล เมื่อเจาะลึกกลุ่มเด็กช้างเผือกจะพบว่า ๑.เด็กได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ๒.โรงเรียนดูแลเอาใจใส่ที่ดี และ ๓.เด็กมีทัศนคติและเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถพัฒนาได้ ซึ่ง ๓ ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนสนับสนุนให้เราสามารถพัฒนาเด็กยากจนให้เป็นช้างเผือกได้ หากมีหน่วยงานและมีมาตรการช่วยเหลือครอบครัวแหว่งกลาง โรงเรียนมีครูครบชั้น ครูมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เพียงพอ ข้อเสนอเชิงนโยบายของ กสศ. คือ การมีมาตรการให้บ้านและโรงเรียนทำงานร่วมกันมากขึ้นนำไปสู่การเรียนรู้ของเด็ก มีระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เชื่อมโยงการเรียนการสอน หลักสูตรและการประเมินเข้าด้วยกัน ให้ครูมีเครื่องมือประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ตั้งแต่ในชั้นเรียน เพื่อดูพัฒนาการของเด็ก และแก้ไขหรือเพิ่มเติมทักษะต่างๆได้ทันที.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่