Sunday, 22 September 2024

"เศรษฐา" บินนราธิวาส เร่งช่วยน้ำท่วม ๓ จังหวัดใต้ยังหนัก พบ ๒ ศพเรือล่ม ยังสูญหายอีก ๒

นายกฯบินเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยใน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ระบุสถานการณ์ขณะนี้เริ่มคลี่คลายย้ำมอบ “เกรียง กัลป์ตินันท์” รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ดูแล ภาพรวมทั้งหมด พร้อมจะไปดูเรื่องระบบเตือนภัย ให้ครบวงจร ย้ำจะทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการเตือนภัย ขณะที่สถานการณ์น้ำ “ยะลา-นราธิวาส” ยังต้องเร่ง ช่วยเหลืออพยพผู้ตกค้างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หนีน้ำขึ้นไปบนหลังคา ส่วน “ปัตตานี-สตูล” ส่อดีขึ้น หากไม่มีฝนมาเพิ่ม คาดน้ำไหลลงทะเลได้เร็ว เว้นที่ลุ่มยังมีน้ำท่วมขังซ้ำซากความคืบหน้าสถานการณ์อุทกภัยใน จ.ยะลาและ จ.นราธิวาส หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้น้ำล้นตลิ่งและมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเมื่อวันที่ ๒๖ ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใน จ.นราธิวาส ฝนเริ่มเบาลงในบางพื้นที่ ทำให้ระดับน้ำใน ๓ ลำน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำสายบุรี ที่น้ำล้นตลิ่ง เริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่ผลจากมวลน้ำจำนวนมากที่ล้นและไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่อย่างหนัก ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมขังอยู่ในขั้นวิกฤติที่ อ.ระแงะ อ.เมืองนราธิวาส อ.แว้ง และ อ.สุไหงโก-ลก โดย ๙ ชุมชนที่ปลูกสร้างอยู่แนวริมตลิ่ง ริมแม่น้ำโก-ลก เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ต.ปาเสมัส มีน้ำท่วมขังสูง ภาพรวมเฉลี่ย ๑-๑.๖๐ เมตร ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวโรงเรียนเทศบาล ๔ บ้านทรายทองไม่ต่างจากบริเวณคลองยะกัง ซึ่งรองรับมวลน้ำจากพื้นที่ อ.ระแงะ เพื่อไหลระบายลงสู่ทะเลด้านปากอ่าวในพื้นที่ อ.เมืองฯ ปริมาณน้ำล้นลำคลองได้ไหลบ่าเข้าท่วมชุมชนยะกัง ระดับน้ำบนถนนสูง ๕๐-๘๐ ซม. รถเล็กผ่านไม่ได้ และอุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบ ๕๐ ปี โดยนายซอฟ คอลออาแซ รองประธานชุมชนยะกัง กล่าวว่า ปีนี้หนักมาก โดยเฉพาะบ้านริมคลองระดับน้ำติดหลังคาบ้านทุกหลัง และขณะนี้หลายครัวเรือนไม่ได้ทานข้าว และไม่มีน้ำดื่ม เช่นเดียวกับตำบลลำภู ระดับนํ้ายังคงทรงตัวระดับสูง บ้านเรือน ร้านค้า ยานพาหนะต่างๆ และวัด ถูกน้ำท่วมสูงได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะกำแพงวัดพังเป็นแถบ อย่างไรก็ตาม หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ค่ายจุฬาภรณ์ ได้นำรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือไฟเบอร์ขนาดเล็ก ๗ ลำ มาช่วยขนย้ายสิ่งของ พร้อมรถครัวสนามเคลื่อนที่ อุปกรณ์ประกอบอาหาร ทำข้าวกล่องมื้อละ ๓๐๐ กล่อง แจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้วด้านนายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส เดินทางไปที่บ้านปูลาไทร อ.ระแงะ นำอาหาร น้ำดื่มเข้าแจกจ่าย บรรเทาความ เดือดร้อนชาวบ้าน ได้ระบุความเสียหายในพื้นที่ปูลาไทรว่าเกิดขึ้นทุกหมู่บ้าน เสียหายเกือบหมด น้ำมาช่วงกลางดึกใช้เวลาไม่นานน้ำขึ้นถึงระดับ ๒ เมตร ยากที่ทุกคนจะขนย้ายข้าวของทัน ส่วนภาพรวมความเสียหายในพื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง เหลือแต่เศษโคลน ขยะ กิ่งไม้ ซึ่งชาวบ้านบอกว่าน้ำที่เข้ามาในพื้นที่เป็นน้ำป่า ขณะที่นายนริศร์ สูละ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเพิ่งเป็นผู้ประสบภัยครั้งนี้ ปกติที่บ้านจะอยู่ที่สูง เป็นจุดที่ปลอดภัย แต่ครั้งนี้กลับไม่ปลอดภัย น้ำมาเร็วมาก เสียหายมากด้วยต่อมาเวลา ๑๕.๔๐ น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการคลัง เดินทางด้วยรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ทะเบียน กจ ๔๕๔๔ นราธิวาส พร้อมนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส เดินทางมายังศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อ.ระแงะ ภายในที่ว่าการอำเภอระแงะ เยี่ยมเยียนและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุและเด็กกว่า ๒๐๐ คน โดยนายกฯ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่เริ่มลดลง ปภ.ได้ลงมาดูแล ตนเข้าใจว่าน้ำมาเร็ว มาแรง และมาเยอะกว่าปกติ แต่การระบายก็เป็นไปได้ด้วยดี รัฐบาลเองต้องพยายามทำงานให้ดีขึ้นในแง่ของการเตือนภัย เนื่องจากปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อย พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนที่เดือดร้อนให้ดี จากนั้น นายกฯได้มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมเดินทักทายและให้กำลังใจ พูดคุยและขอบคุณเจ้าหน้าที่และทีมแพทย์ รวมถึงมอบยาอาหารสัตว์พระราชทานที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว แก่ตัวแทนเกษตรกรและเยี่ยมโรงครัวกองทัพบกที่มาให้บริการอาหารกับผู้ประสบภัยจากนั้นนายกฯสวมรองเท้าบูตเดินลุยน้ำที่ชุมชนเขตเทศบาลตันหยงมัส อ.ระแงะ ซึ่งอยู่ใกล้กับคลองตันหยงมัส เยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบ้านถูกน้ำท่วม โดยกล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ คลี่คลาย และนายเกรียงจะอยู่ดูแลภาพรวมทั้งหมด ต่อไปจะต้องดูเรื่องระบบเตือนภัยให้ครบวงจร ทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการเตือนภัย และได้กล่าวกับ ผวจ.นราธิวาสว่า ไม่อยากที่จะมาในเหตุการณ์แบบนี้ อยากจะมาดูแลด้านการค้า เพราะสิ่งต่างๆกำลังเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งเรื่องความสงบความมั่นคง มีการเจรจากับมาเลเซียได้ดีขึ้น พอเราเปิดการค้าชายแดนดีขึ้น ตนอยากมาทำกิจกรรม และจัดเทศกาลในพื้นที่ให้มากขึ้นสำหรับภาพรวมความเสียหายใน จ.นราธิวาส สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส สรุปมีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ๑๓ อำเภอ ๖๘ ตำบล ๔๑๐ หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความ เดือดร้อน ๒๘,๐๔๙ ครัวเรือน ๑๐๙,๕๔๕ คน โรงเรียน ๒๕๔ แห่ง วัด ๑๘ แห่ง มัสยิด ๑๓ แห่ง ถนน ๒ สาย สะพาน ๑ แห่ง สถานที่ราชการ ๕ แห่ง ฯลฯ โดย อ.รือเสาะ เสียหายมากสุดถึง ๘ ตำบล ตามด้วย อ.ระแงะ เสียหาย ๗ ตำบล ส่วน อ.แว้ง อ.เมืองนราธิวาส อ.บาเจาะ อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี เสียหายอำเภอละ ๖ ตำบล เป็นต้น และมีชาวรือเสาะเสียชีวิตจากเรืออพยพล่ม ๒ ราย เป็นหญิง อายุ ๘๙ และ ๖๓ ปี ยังสูญหายอีก ๒ ราย เป็นเด็กชาย อายุ ๒ และ ๘ ขวบส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้น ภาครัฐและเอกชนทยอยนำสิ่งของอุปโภคบริโภคเข้าช่วยเหลือตามจุดอพยพ โดย ผวจ.นราธิวาส ได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ระดมกำลังช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เนื่องจากสถานีอุตุนิยมวิทยานราธิวาส แจ้งว่ายังมีฝนกำลัง อ่อนถึงปานกลางตกทั่วจังหวัดไปจนถึงเช้ามืดวันที่ ๒๗ ธันวาคมทำให้ยังคงเฝ้าระวังระดับน้ำใน ๓ ลุ่มน้ำสายหลักอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้มีรายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้อย่างเต็มที่เช่นกันนอกจากนี้ นางรัตนา สมสกุลรุ่งเรือง ประธานมูลนิธิร่วมกตัญญู มอบหมายให้นายสมศักดิ์ ปาลวัฒน์ ผจก.มูลนิธิฯ จัดขบวนคาราวาน ประกอบด้วย ๑.เรือท้องแบนขนาดใหญ่ ๔ ลำ ๒.รถยกสูงขับเคลื่อน ๔ ล้อ ๘ คัน และ ๓.รถบรรทุกหกล้อ บรรทุกถุงยังชีพ บรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค ที่เป็นอาหารฮาลาล ๔๐๐ ชุด ออกเดินทางจากสำนักงานบางพลี จ.สมุทร ปราการ มุ่งหน้าเข้าพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมี ๒ ดาราคู่แฝด ท็อป-บิณฑ์ และไทด์-เอกพัน บรรลือฤทธิ์ นำเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครไปให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนแล้วส่วนสถานการณ์อุทกภัยที่ จ.ยะลา ที่วิกฤติใน อ.รามัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต.อาซ่อง ต.บาลอ ระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรียังคงสูงกว่าตลิ่ง อยู่ที่ระดับ ๒.๓๕ เมตร สภาพพื้นที่ยังคงวิกฤติทั้งปริมาณน้ำที่ท่วมสูงและขยายเป็นวงกว้าง ในช่วงค่ำไม่มีไฟฟ้า ชาวบ้านที่มีบ้านสองชั้น ต้องขึ้นไปอยู่บนชั้นสองของบ้านและจุดเทียนให้แสงสว่างแทน พร้อมกันนี้ทีมกู้ภัยจากหลายหน่วยงานได้ใช้เรือยนต์ฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในหมู่ที่ ๒, ๓, ๔, ๕ ต.บาลอ ที่ยังคงตกค้างกว่า ๑๐๐ คน รวมถึงประสานกับทหารพราน ๔๑ ขอสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากกองทัพเข้ามาลำเลียงประชาชนที่ติดค้างบนหลัง คาเรือน โดยเฉพาะในหมู่ ๔ ที่น้ำท่วม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ชั้น ๒ ก็อยู่ไม่ได้ และหมู่ ๕ มีประชาชนติดอยู่บนหลังคาเรือน นำออกมายังศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยที่เทศบาลตำบลเมืองรามัน และที่ว่าการอำเภอรามันทั้งนี้ นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผวจ.ยะลา กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วม ได้รับผลกระทบ ๗ อำเภอ ๓๖ ตำบล ๑๕๗ หมู่บ้าน ๑ ชุมชน จำนวน ๖,๘๙๘ ครัวเรือน ๒๗,๗๑๔ คน พื้นที่ได้รับผลกระทบ หนักสุดคือ อ.รามัน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ในด้านการช่วยเหลืออพยพประชาชนมายังศูนย์พักพิง พร้อมอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุข อาหาร ส่วนความเสียหายของบ้านเรือน ทรัพย์สิน ถนน และพืชผลทางการเกษตร หลังจากผ่านวิกฤติแล้วจะเร่งสำรวจให้ความช่วยเหลือต่อไป ขณะที่การดูแล ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ใน ต.บาลอ วิทยาลัยการอาชีพรามัน เปิดศูนย์พักพิงผู้อพยพ สามารถรองรับประชาชนได้กว่า ๖๐๐ คน พร้อมดูแล เรื่องโรงครัวพระราชทานขณะที่ในตัว อ.เมืองยะลา น้ำไหลเข้าท่วมรอบๆเขตเทศบาลนครยะลาหลายแห่ง ที่สี่แยกถนนศรีบำรุงตัดกับถนนศรีบำรุง ๑ โรงแรมแห่งหนึ่งต้องใช้เรือนำลูกค้าที่ประสงค์จะเข้าไปใช้บริการข้ามน้ำ ไปอย่างทุลักทุเล เนื่องจากระดับน้ำสูงราว ๕๐ ซม. และมีรายงานว่าบริเวณถนน ตรงคอสะพานข้ามแม่น้ำ ปัตตานี ก่อนถึงจุดตรวจท่าสาป ถนนเทศบาล ๑ เขตเทศบาลนครยะลา มีรอยร้าว ซึ่งเทศบาลนครยะลา ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว ส่วนหมู่ ๙ หลังวัดตรีมิตรและ รพ.สต.สะเตงนอก พื้นที่นอกของเขตเทศบาลนครยะลา เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมซ้ำซาก ถนนบางช่วงยังมีน้ำท่วมสูงกว่า ๕๐ ซม.สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ปัตตานี โดยเฉพาะลุ่มน้ำสายบุรี มวลน้ำจาก จ.นราธิวาส ได้ไหลบ่าลงมาสมทบในแม่น้ำสายบุรีเมื่อคืนที่ผ่านมาประกอบกับฝนตกหนัก ส่งผลให้มวลน้ำจำนวนมากเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายจุด โดยเฉพาะถนนเส้นทางหมู่บ้านเจาะกือแย ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี น้ำท่วมบ้านเรือนหลายหลังคาเรือน โรงเรียนต้องปิดเรียนชั่วคราว เส้นทางในหมู่บ้านระดับน้ำสูงเกือบ ๑ เมตร ทำให้ต้องปิดเส้นทางเข้าออกระหว่างเข้าตัวอำเภอสายบุรี เช่นเดียวกับถนนสายหลัก ปัตตานี-นราธิวาส ทั้ง ๔ เลนขาเข้าขาออกปัตตานี-นราธิวาส มีน้ำท่วมถนน ทำให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า ขณะที่ อ.กะพ้อ พื้นที่รับน้ำจาก จ.นราธิวาส ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน หลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วม บางจุดชาวบ้านต้องใช้เรือในการสัญจร โดยอำเภอดังกล่าวถูกน้ำท่วมในรอบ ๓๐ ปี เช่นเดียวกับ อ.ยะรัง อ.มายอ ที่รับน้ำจาก จ.ยะลา จ.นราธิวาส หลายหมู่บ้านที่ติดกับริมแม่น้ำและเป็นพื้นที่ต่ำ ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน ทำให้ล่าสุดมีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม ๔ อำเภอ ๘ ตำบล ๑๒ หมู่บ้าน ๑,๑๐๘ ครัวเรือน ราษฎร ๓,๗๗๕ คน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เกิดอุทกภัย ทหาร ตำรวจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้วนอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าวันที่ ๒๖ ธันวาคมศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยมีนายสนั่น สนธิเมือง รอง ผวจ.ปัตตานี เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทาน ณ ห้องรับรองมหาเลลา ชั้น ๕ ศาลากลางจังหวัดปัตตานี โดยมีนายอำเภอ และผู้แทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้แทนรับมอบ ซึ่งจะได้นำไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่อไปส่วนสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.ควนโดนและ อ.เมืองสตูล น.ส.วิภารัตน์ อร่ามเรือง ผช.หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รักษาราชการแทนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สตูล กล่าวว่าในพื้นที่ อ.ควนโดน น้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มที่ยังมีท่วมขังบางจุด ซึ่งสถานการณ์ต้นน้ำคือพื้นที่ อ.ควนโดน ฝนไม่ตกเพิ่ม ขณะที่ ต.ฉลุง ระดับน้ำเริ่มลดลง ขณะนี้มวลน้ำไหลลงสู่พื้นที่ ต.บ้านควน ต.คลองขุด โดยเฉพาะในเขตเทศบาล ต.คลองขุด แต่จากการตรวจสอบยังไม่พบสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งเนื่องจากน้ำไหลลงพื้นที่ปลายน้ำอย่างรวดเร็ว คาดว่ามวลน้ำจะไหลลงสู่พื้นที่ดังกล่าวภายใน ๒๔ ชั่วโมง และไหลลงทะเลอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุน ไม่เป็นอุปสรรคในช่วงนี้ ส่วนความช่วยเหลือ ร.ต.อ.อดิเทพ พัดลม หน.ชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตชด.๔๓๖ สตูลได้ออกช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ต.ฉลุง และ ต.บ้านควน เพื่อแจกน้ำและชุดยารักษาโรคไปมอบให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัย ซึ่งพบว่าสถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลายมีบ้านเรือนที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขังอยู่เล็กน้อย ทั้งนี้พื้นที่ อ.ควนโดน ได้รับความเดือดร้อน ๔ ตำบล ๑๔ หมู่บ้าน ๑,๒๒๒ ครัวเรือน ส่วน ต.ฉลุง อ.เมืองสตูล ได้รับผลกระทบ ๖ หมู่บ้าน กว่า ๑๐๐ ครัวเรือนอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่