Thursday, 19 December 2024

ห้ามขึ้นราคาสินค้า ซ้ำเติมวิกฤติท่วมใต้ นราธิวาสอ่วม "๑๓ อำเภอ" เริ่มขาดน้ำกับอาหาร

นราธิวาสอ่วมน้ำท่วม ๑๓ อำเภอ ชาวบ้านเดือดร้อน ๑.๕ แสนคน แจ้งเตือนเฝ้าระวังระดับน้ำ ๓ ลุ่มน้ำหลัก นาวิกโยธินกองทัพเรือเร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนอาหาร รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทยลงพื้นที่ซับน้ำตาชาวยะลา เผยสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดต่อเนื่อง ปัตตานีอ่วมน้ำท่วม ๗ อำเภอ หนักสุดในรอบ ๓๐ ปี สลดหนุ่มพิการแขนขาดเดินฝ่ากระแสน้ำกลายเป็นศพ “พัชรวาท” ห่วงฝนตกหนักกำชับกรมทรัพยากรธรณีเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ใกล้ชิด พาณิชย์ย้ำสินค้ามีเพียงพอห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหลายจังหวัด เมื่อวันที่ ๒๗ ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนยังคงตกหนักในพื้นที่ จ.นราธิวาส ส่งผลให้แม่น้ำ ๓ สายหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำสายบุรี ยังคงล้นตลิ่งไหลท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนเป็นวงกว้าง รวม ๑๓ อำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ ๙ ชุมชน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ประกอบด้วย ชุมชนหัวสะพาน ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าประปา ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง ชุมชนท่าชมพู ชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนบือเร็งนอก ชุมชนบือเร็งใน และชุมชนกือดาบารู น้ำท่วมสูงเฉลี่ย ๑-๒ เมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพไปอยู่สถานที่ปลอดภัย มีบางส่วนเป็นห่วงทรัพย์สินต้องขึ้นไปพักอาศัยบนชั้น ๒ เริ่มขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม นางสุชา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ส่งเจ้าหน้าที่นำอาหารกล่องและน้ำดื่มลงเรือพายตระเวนแจกจ่ายตามชุมชนต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นtt ttพล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาค ๔ และ ผู้อำนวยการรมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส พบสภาพน้ำท่วมพื้นที่ทางเกษตร บ้านเรือนของประชาชน ถนนหนทาง โรงเรียน มัสยิด และวัดในพื้นที่ หมู่ ๖, ๗ และ ๑๐ ต.มะรือโบออก น้ำท่วม สูงเกือบ ๒ เมตร มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ จากนั้นนั่งรถทหาร ฉก.ทพ.๔๘ ไปยังวัดปิเหล็ง หมู่ ๖ ต.มะรือโบออก เปิดเป็นศูนย์อพยพชั่วคราว มีชาวบ้านที่พักอาศัย ๑๕๐ คน พล.ท.ศานติ เยี่ยมให้กำลังใจสอบถามสถานการณ์พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เตรียมตัวไม่ทันทำให้ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมากขณะเดียวกัน กำลังพลกองร้อยลาดตระเวน ฉก.นย.ทร. นำเรือยนต์ ๒ ลำ อพยพประชาชน ๓๘ คน ออกจากพื้นที่น้ำท่วมสูง บ้านรอตันบาตู ต.กะลุวอ อ.เมืองนราธิวาส ได้อย่างปลอดภัย ขณะที่กำลังพล ๒ ชุดปฏิบัติการอพยพประชาชนบ้านปาดังยอ หมู่ ๓ และบ้านมูโนะ หมู่ ๑ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก ไปพักพิงที่ศูนย์อพยพ ร.ร.ดารุฟุรกอน และสนามกีฬามูโนะ พร้อมเสริมแนวบิ๊กแบ็กบริเวณริมคลองมูโนะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส รายงานว่า จ.นราธิวาส เกิดอุทกภัยตั้งแต่วันที่ ๒๒ ธันวาคมที่ผ่านมา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ๑๓ อำเภอ ๗๗ ตำบล ๔๙๗ หมู่บ้าน ๒๒ ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบ ๔๑,๔๔๒ ครัวเรือน ๑๕๘,๑๒๖ คน มีผู้เสียชีวิต ๗ ราย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระดับน้ำที่จะเอ่อล้นตลิ่งต่อเนื่อง รวมถึงลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำโก-ลก และลุ่มน้ำสายบุรี ขณะนี้ระดับน้ำยังเพิ่มสูงสถานการณ์น้ำท่วม จ.ยะลา เริ่มคลี่คลายหลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลง ประชาชนทยอยเข้าสำรวจบ้านเรือน แต่ยังมีบางจุดยังคงมีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะพื้นที่บ้านลิมุด หมู่ ๓ ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา อยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี ระดับน้ำยังท่วมสูง ๑ เมตร ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.เสกสันต์ ชูรังสฤษฎิ์ ผบก.ภ.จ.ยะลา นำรถครัวเคลื่อนที่ปรุงอาหารปรุงสำเร็จและน้ำดื่ม ๕๐๐ ชุด แจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนพื้นที่หมู่ ๔ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา ส่วนพื้นที่ อ.รามัน ถึงแม้ฝนจะหยุดตก แต่แม่น้ำสายบุรีล้นตลิ่งไหลท่วมหลายพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง จากการสำรวจพบคอสะพานตะโละหะลอ-รามัน ต.ตะโละหะลอ ถูกน้ำกัดเซาะจนคอสะพานทรุดตัว เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่ อบต.ตะโละหะลอ เร่งซ่อมแซมเพื่อให้ประชาชนสัญจรได้ตามปกติวันเดียวกันนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย พร้อมคณะลงพื้นที่ จ.ยะลา ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมเดินทางไปศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย วิทยาลัยการอาชีพรามัน อ.รามัน โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผวจ.ยะลา ให้การต้อนรับและสรุปสถานการณ์ ก่อนจะมอบถุงยังชีพ จำนวน ๓๐๐ ชุด ให้ผู้ประสบภัย นายเกรียงเปิดเผยว่า วันนี้ตนเป็นตัวแทนนายกฯ นำความห่วงใยและความปรารถนาดี มาเยี่ยมเยียนและรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าสู่ภาวะปกติ ดีใจเห็นทุก ภาคส่วนให้ความร่วมมือช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่tt ttนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผวจ.ยะลา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ ๓๐ ปี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบกว่า ๗ อำเภอ ๖,๙๐๐ ครัวเรือน พื้นที่รับผลกระทบมากที่สุด อ.รามัน สั่งให้อำเภอร่วมกับผู้บริหาร อปท.อพยพผู้ประสบภัย โดยเฉพาะใน ต.บาลอ กว่า ๒๐๐ คน ไปศูนย์อพยพชั่วคราวที่วิทยาลัยการอาชีพ ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือหากต้องการอพยพ ขณะนี้ยังสามารถบริหารจัดการภายในได้ แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไปและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรกส่วน จ.ปัตตานี ระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำปัตตานี และลุ่มแม่น้ำสายบุรี ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่ทำเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย รวม ๗ อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองปัตตานี อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.ยะรัง อ.สายบุรี อ.ทุ่งยางแดง และ อ.กะพ้อ หนักสุดในรอบ ๓๐ ปี โดยเฉพาะ อ.สายบุรี น้ำท่วมพื้นที่ ๗ ตำบล บางจุดน้ำท่วมสูง ๑-๓ เมตร ชาวบ้านต้องใช้เรือในการเข้าออกหมู่บ้านและเริ่มอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยเนื่องจากไฟฟ้าเริ่มดับหลายแห่ง โรงเรียนในพื้นที่หลายแห่งน้ำท่วมอาคารชั้นล่าง อุปกรณ์การเรียนการสอนจมน้ำเสียหาย ต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ เกิดเหตุนายมูฮัมหมัด ยามา อายุ ๒๓ ปี หนุ่มพิการข้อมือซ้ายขาด เดินลุยน้ำท่วมบริเวณสวนยาง หมู่ ๓ ต.บือเระ อ.สายบุรี ถูกกระแสน้ำไหลเชี่ยวพัดร่างจมน้ำเสียชีวิต นางพาตีเมาะ สะดียามู ผวจ.ปัตตานี เปิดเผยว่า กำชับไปยังนายอำเภอแต่ละอำเภอที่ประสบอุทกภัยให้เร่งช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ พร้อมตั้งโรงครัวเพื่อทำอาหารช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้นายสมนึก พรหมเขียว ผวจ.สงขลา เปิดเผยว่า จ.สงขลา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย ๓ อำเภอ ได้แก่ อ.คลองหอยโข่ง อ.สะบ้าย้อย และ อ.รัตภูมิ รวม ๙ ตำบล ๒๙ หมู่บ้าน ๘๓๖ ครัวเรือน ๒,๓๑๙ คน ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม สั่งการให้นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่วันเดียวกัน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กำชับให้กรมทรัพยากรธรณีติดตามสถานการณ์แผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด พร้อมนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มและพื้นที่ปลอดภัยไปใช้เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการลดผลกระทบ ตลอดจนการกู้ภัยให้ความช่วยเหลือและประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดแผ่นดินถล่มเพิ่มเติม เพื่อเตรียมการรับมือเหตุการณ์แผ่นดินถล่มที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากในช่วง ๒-๓ วันนี้ หลายพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ออกประกาศขอให้เครือข่ายประชาชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง ๒-๓ วันนี้ ในพื้นที่นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องวัดปริมาณน้ำฝนในรอบ ๒๔ ชั่วโมงได้มากกว่า ๒๕๐ มิลลิเมตร ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีฝนตกหนักสะสมอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่ม ขอให้เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังด้วยนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้หนักสุดในรอบ ๕๐ ปี โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ สั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำกับดูแลให้มีสินค้าอุปโภคบริโภคจำหน่ายในปริมาณที่เพียงพอ ห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า กรมได้หารือกับผู้ประกอบการห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ และห้างจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเพื่อติดตามสถานการณ์อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า แต่ละห้างยืนยันว่าสินค้ามีเพียงพอและไม่มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า โดยสาขาใหญ่ของแต่ละห้างในพื้นที่น้ำท่วมยังคงเปิดให้บริการได้ตามปกติ มีเพียงสาขาเล็กและร้านสะดวกซื้อบางแห่งใน จ.นราธิวาส ต้องปิดทำการเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากปัญหากระแสไฟฟ้า สำหรับการขนส่งยังคงดำเนินการได้โดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ แต่ได้กำชับให้ทุกห้างร้านจัดเตรียมสต๊อกสินค้าไว้ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดแคลน และหากมีปัญหาด้านปริมาณสินค้าหรือการขนส่งให้รีบแจ้งกรมเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว“จะร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกำกับดูแลให้ผู้ค้าปิดป้ายแสดงราคาสินค้า และเข้มงวดไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า โดยกรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท และกรณีจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี ปรับไม่เกิน ๑๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบเห็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม โทร. ๑๕๖๙ หรือทางแอปลิเคชันไลน์ @MR.DIT หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด” นายวัฒนศักย์กล่าวอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่