Sunday, 19 January 2025

รัฐบาล ย้ำ เดินทางปีใหม่ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เข้ารักษาได้ทุก รพ.

โฆษกรัฐบาล ย้ำ ประชาชนเดินทางปีใหม่ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้ารักษาได้ทุก รพ.ที่อยู่ใกล้ สิทธิ UCEP/บัตรทองพร้อมดูแล กรณีเจ็บป่วยไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่จำเป็นต้องรับการรักษา ให้ใช้สิทธิรักษา ม.๗ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ นี้ที่มีวันหยุดยาวระหว่างวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึง ๑ มกราคม ๒๕๖๗ ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางต่างจังหวัดเพื่อกลับบ้านหรือเยี่ยมเยียนครอบครัว รัฐบาลโดยนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ดูแลพร้อมแจ้งผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง ๓๐ บาท หากเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล โดยในการเข้ารับบริการแบ่งเป็น ๓ กรณี ดังนี้ ๑. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติถึงแก่ชีวิต หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุดโดยเร็ว เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียวและแจ้งใช้สิทธิ UCEP ซึ่งจะเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบัน สปสช.มีระเบียบการเบิกจ่ายในส่วนของ UCEP ภาครัฐด้วย เพิ่มเติมจากอดีตที่มีการเบิกจ่ายสิทธิ UCEP ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลรัฐที่รับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตด้วยสิทธิ UCEP ก็จะเบิกจ่ายได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาผู้ป่วยตามสิทธิ UCEP สำหรับสิทธิ UCEP นั้นผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤติและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยเมื่อพ้น ๗๒ ชั่วโมง จะส่งรักษาต่อที่หน่วยบริการประจำ โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. สายด่วน ๑๖๖๙ ได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ๖ อาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ประกอบด้วย ๑. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ๒. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัด มีเสียงดัง ๓. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง ๔. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม ๕. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ ๖. มีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ หากป่วยฉุกเฉินแต่ ‘ไม่วิกฤติถึงแก่ชีวิต’ สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุด โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียวและแจ้งใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ ๓๐ บาท ๒. กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น มีความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก เกิดภาวะท้องเสียรุนแรง ไข้หวัด ปวดท้อง เคืองตา ทำแผลต่อเนื่อง ตัดไหม หรือยาหมด (ต้องกินยาต่อเนื่องแต่ยาหมดระหว่างเดินทางไปต่างพื้นที่ มาขอรับยาได้) ฯลฯ สามารถเข้ารักษาได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลประจำอำเภอ หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยยื่นบัตรประชาชนและแจ้งใช้สิทธิบัตรทอง ๓. กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย สปสช. ได้ร่วมกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มบริการให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้นดังนี้ • เจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ อาการ ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว ปรึกษาเภสัชกรและรับยาได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ทั่วประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสังเกตสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย” หรือดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/๒๐๔• เจ็บป่วยเล็กน้อย ๓๒ อาการ ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว เข้ารักษาโรคเบื้องต้นตามขอบเขตวิชาชีพได้ที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นกว่า ๖๐๐ แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ สังเกตสติกเกอร์ คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น• เจ็บป่วยเล็กน้อย ๔๒ อาการ หากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ๕ จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) มีที่อยู่ให้จัดส่งยาได้ พบหมอออนไลน์ รอรับยาที่บ้านผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพ ๔ ช่องทาง ดูรายละเอียดที่ https://www.nhso.go.th/news/๔๐๗๘ “เลขาธิการ สปสช. ชี้แจงด้วยว่า ส่วนประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ๓๐ บาท ในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-๑๙ สามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ป่วยกลุ่มไม่มีอาการหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถรับบริการรับยาที่ร้านยา บริการโควิด-๑๙ ด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และบริการปฐมภูมิทุกที่ได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขอให้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิ โดย สปสช. ยังคงสิทธิประโยชน์บริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่อง” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว