Thursday, 19 December 2024

๗ บุคคลโดดเด่น-ทรงอิทธิพลที่สุดประจำปี ๒๐๒๓

ปี ๒๐๒๓ กำลังจะผ่านพ้นไปเข้าสู่ปีใหม่ ๒๐๒๔ โดยตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงขึ้นในโลกของเรามากมาย ซึ่งภายในศูนย์กลางนั้นจะมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่โดดเด่นขึ้นมาหรือมีอิทธิพลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ไม่ว่าจะในด้านการเมือง ศิลปะ หรือเทคโนโลยีทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ได้คัดเลือกบุคคล ๗ คน ที่มีความโดดเด่นที่สุดในสายอาชีพของพวกเขา หรือมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่สุดในปี ๒๐๒๓ เอาไว้ ณ ที่นี้แล้วtt ttเทย์เลอร์ สวิฟต์ – บุคคลแห่งปี ๒๐๒๓ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี ๒๐๒๓ นับเป็นปีของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ อย่างแท้จริง นักร้องสาววัย ๓๔ ปีผู้นี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการทำสิ่งที่เธอเชี่ยวชาญที่สุด นั่นคือการสร้างความบันเทิงและเขียนเพลงที่เชื่อมโยงเหล่าแฟนๆ เข้าด้วยกัน จนทำให้เธอกลายเป็นคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง ‘บุคคคลแห่งปี’ ของนิตยสาร Time ด้วยผลงานด้านศิลปะตลอด ๑๗ ปีนับตั้งแต่เปิดตัวเพลงแรก สวิฟต์มีอัลบั้มเพลงที่ติดชาร์ตอันดับ ๑ มากกว่าผู้หญิงคนใดในประวัติศาสตร์ แค่ปีนี้ปีเดียวก็มีถึง ๓ อัลบั้มแล้ว เธอยังไปปรากฏตัวอยู่ทุกที่ในปี ๒๐๒๓ คอนเสิร์ต ‘ดิ เอราส์ ทัวร์’ (The Eras Tour) ของเธอมีคนดูเต็มทุกรอบ และสร้างปรากฏการณ์ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าแผ่นดินไหวระดับ ๒.๓ แมกนิจูดเอราส์ ทัวร์ ยังส่งให้สาวเทย์เลอร์ไปเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีพันล้าน, กระตุ้นจีดีพีของหลายประเทศ ถึงขั้นที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดชั้นเรียนเพื่อศึกษาบทเรียนจากเธอ ทั้งในด้านวรรณกรรม, ธุรกิจ และกฎหมาย ขณะที่หลายเมืองเปลี่ยนชื่อถนนตามชื่อของเธอ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเธอมีอิทธิพลขนาดไหนแต่ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น บรรดาผู้นำและนักการเมืองโลก ยังแข่งกันใช้ความสำเร็จของ เอราส์ ทัวร์ มาช่วยสร้างความนิยมให้ตัวเอง ด้วยการขอให้ เทย์เลอร์ สวิฟต์ มาจัดคอนเสิร์ตในประเทศของพวกเขา เธอยังทำให้แฟนหลายหมื่นคนยอมลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งสหรัฐฯ หลังจากเธอออกมากระตุ้นผ่านอินสตาแกรมด้วยtt ttแซม อัลต์แมน – ซีอีโอดาวรุ่งแห่งวงการ AIแซม อัลต์แมน ซีอีโอวัย ๓๘ ปี ของบริษัท ‘โอเพนเอไอ’ (OpenAI) ผู้ปล่อย ‘แชตจีพีที’ (ChatGPT) หนึ่งในระบบแชตเอไอที่ทรงพลังที่สุดในโลกออกสู่สาธารณะเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยความเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีความฉลาดและความสามารถในการปรับตัวมากพอที่จะรับมือกับเอไอที่พัฒนาขึ้นทุกวันได้“สังคมมีความสามารถในการปรับตัว เพราะผู้คนฉลาดและมีความสามารถมากกว่าคนที่เรียกว่าผู้เชี่ยวชาญคิดเอาไว้มาก”อัลต์แมนเป็นหนึ่งในชื่อที่ร้อนแรงที่สุดในวงการไอที และการปล่อยแชตจีพีทีก็กำลังพิสูจน์ว่า สิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้อง อย่างน้อยก็จนถึงตอนนี้ เพราะมนุษย์ปรับตัวเข้ากับการมาของเครื่องมือเอไออย่างรวดเร็ว ผู้พัฒนารายอื่นๆ ก็ทยอยปล่อยระบบปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองออกมา และมันก็ค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนแต่ระบบที่ทรงพลังมากขึ้นก็มาพร้อมกับอันตรายที่สูงขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศต่างๆ กำลังระดมสมองอย่างจริงจังเพื่อหามาตรการควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ไม่ให้เกิดผลเสียหรือเป็นอันตราย ทว่าตอนนี้ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดล้ำที่สุดในด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ก็ไม่รู้วิธีที่เหมาะสมในการควบคุมเอไอในฐานะแนวหน้าในการผลักดันปัญญาประดิษฐ์ โอเพนเอไอ ภายใต้การบริหารของอัลต์แมนวางปัญหาเรื่องการควบคุมเอไอ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของบริษัท และประกาศตั้งทีม Superalignment ทีมงานวิจัยที่เตรียมการรับมือปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดเหนือมนุษย์ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบเอไอทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของมนุษยชาติtt ttเรเจป ไตยิป เอร์โดอัน – ตัวกลางเจรจาความขัดแย้งเรเจป ไตยิป เอร์โดอัน ประธานาธิบดีแห่งตุรกี ผู้ปกครองประเทศมานานกว่า ๒ ทศวรรษ เขาพยายามวางตัวเป็นตัวละครสำคัญในภูมิภาคมานานแล้ว และตอนนี้เอร์โดอันก็กำลังใช้ประโยชน์จากวิกฤติเชิงภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่อย่างสงครามยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาสอย่างเต็มที่เอร์โดอันเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่มีสายต่อตรงเข้าสู่ทั้งเครมลินและทำเนียบประธานาธิบดียูเครน และเป็นสื่อกลางระหว่างทั้ง ๒ ฝ่ายนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๒๒ รวมถึงช่วยเรื่องการทำข้อตกลงเปิดทางส่งธัญพืชผ่านทะเลดำที่ถูกมอสโกปิดกั้น และถึงแม้ว่าข้อตกลงจะพังทลายลงในเวลาต่อมา เอร์โดอันก็ยังพยายามรื้อฟื้นมันกลับมาตอนที่ฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่เมื่อ ๗ ต.ค. ที่ผ่านมา สังหารคนไปกว่า ๑,๒๐๐ ศพ และลักพาตัวประกันอีก ๒๔๐ ราย เอร์โดอันก็เลือกบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอีกครั้ง โดยหาทางลดความรุนแรงร่วมกับประธานาธิบดีอิสราเอล และผู้นำปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ รวมถึงผู้นำอียิปต์ เลบานอน และกาตาร์ด้วย แต่หลังจากอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาอย่างหนักเพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาส เอร์โดอันก็เลือกข้างปาเลสไตน์ ประณามอิสราเอลเป็นผู้ยึดครองและเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดในขณะเดียวกัน เอร์โดอันยังดันตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งของยุโรป ใช้เรื่องการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากตุรกีด้วย เป็นเครื่องต่อรองในการขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของพวกเขาที่คาราคาซังมานาน ทำให้ EU ต้องหันมาพิจารณาว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับตุรกีอย่างไร นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของเอร์โดอันtt ttเออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน – เดอะ ควีนสตรีผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นประธานคณะมนตรียุโรป (European Commission – EC) เข้มแข็งที่สุด และเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้นับตั้งแต่ วอลเตอร์ ฮอลล์ชไตน์ ออกจากตำแหน่งไปเมื่อปี ๑๙๖๗ เออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน รวบรวมอำนาจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นำพาสหภาพยุโรปฟันฝ่าวิกฤติมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาวอน แดร์ เลเยน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนี เป็นผู้ประทับตราอนุมัติมาตรการรับมือทุกความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่ไฟเขียวใช้วัคซีนโควิด-๑๙ ไปจนถึงรวบรวมชาติยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย ตามหลังการบุกโจมตียูเครนเต็มรูปแบบแต่ในช่วงหลังมานี้ วิธีการบริหารแบบแข็งกร้าวของเธอเริ่มสร้างความไม่พอใจในหมู่เพื่อนร่วมงานของเธอในหน่วยงานการเมืองสูงสุดของสหภาพยุโรปแห่งนี้ วอน แดร์ เลเยน กลายเป็นที่เลื่องลือเรื่องการตัดสินใจสำคัญๆ โดยไม่ปรึกษารัฐบาลชาติ EU หรือกระทั่งสมาชิกคณะมนตรีของเธอเอง จนได้ฉายาเชิงประชดประชันว่า ‘ควีนเออร์ซูลา’เออร์ซูลาเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังเล่นนอกบทด้วยการเดินทางเยือนอิสราเอลโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เมื่อเดือนตุลาคม หลังจากกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ เธอยังเป็นผู้ลงนามข้อตกลงมอบเงินพันล้านให้ตูนิเซียช่วยสกัดผู้อพยพจากแอฟริกาใต้ ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังประกาศการสืบสวนนโยบายอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเมื่อเดือนกันยายน ทำให้ชาติสมาชิก EU หลายประเทศไม่ทันตั้งตัวด้วยในปี ๒๐๒๔ จะเกิดการสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ซึ่ง วอน แดร์ เลเยน ยังคงมีอิทธิพลมากพอให้เธอมีตัวเลือก ๒ ทางคือ ดำรงตำแหน่งประธาน EC ต่อไปอีก ๕ ปี หรือสละตำแหน่งให้คนอื่นๆ แล้วเดินหน้าไปเป็นเลขาธิการใหญ่นาโตแทนtt ttอีลอน มัสก์ – นักธุรกิจสติเฟื่องอีลอน มัสก์ จบปี ๒๐๒๒ ด้วยการเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่คราวนี้เขาจบปีด้วยการเป็นคนที่โด่งดังที่สุดหลังจากใช้เงินไป ๔.๔ หมื่นล้านดอลลาร์ในปี ๒๐๒๒ เพื่อเทกโอเวอร์บริษัท ทวิตเตอร์ มัสก์ผู้นำเสนอตัวเองเป็นผู้ต่อต้านการแบ่งชนชั้น, สนับสนุนเสรีภาพในการพูดของทุกคน ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงทวิตเตอร์ด้วยการปลดพนักงานและทีมรักษาความปลอดภัย, เก็บเงินค่ายืนยันตัวตน และสุดท้าย ทวิตเตอร์ ก็หายไปเมื่อมัสก์ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น เอ็กซ์ (X) และเลิกใช้โลโก้นกฟ้าที่เป็นเครื่องหมายของทวิตเตอร์มานานกว่า ๑๐ ปีX ทำให้อีลอน มัสก์ กลายเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากบนโลกออนไลน์ เขาแสดงความเห็นอย่างดุเดือด ตั้งแต่เรื่องสงครามยูเครน, สงครามอิสราเอล-ฮามาส, การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป, การดีเบตเรื่องการต่อต้านชาวยิวที่ฮาร์วาร์ด และอื่นๆ ซึ่งมักดึงความสนใจจากผู้นำโลกได้สำเร็จมัสก์ยังเดินทางไปพบผู้นำประเทศต่างๆ มากมาย รวมทั้งเกาหลีใต้, อินเดีย, ตุรกี และฝรั่งเศส ได้ทัวร์ประเทศจีนและพบรัฐมนตรีหลายกระทรวง ก่อนที่ในเดือนพฤศจิกายน มัสก์จะได้ร่วมเวทีประชุมว่าด้วยเอไอกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และเดินทางไปพบผู้นำอิสราเอล หลังเขาไปพูดว่า ข้อความต่อต้านชาวยิวบน X คือความจริงมหาเศรษฐีรายนี้ยังไปพัวพันกับความขัดแย้งอยู่เป็นนิจ ทั้งโจมตีผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย ที่ประกาศขอรับบริจาค, ปะทะกับ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เหตุ เมตา เปิดตัว Threads มาเป็นคู่แข่งของ X ซึ่งเรื่องลามไปถึงขั้นมัสก์ท้าซัคเคอร์เบิร์กต่อสู้บนสังเวียน MMA ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นจริง, มัสก์ยังเรียกร้องให้ดิสนีย์ ไล่ซีอีโอ บ๊อบ อีเกอร์ ออก เพราะถอนโฆษณาออกจาก X ด้วยtt ttมิสเตอร์บีสต์ – ยูทูบเบอร์พันล้านจิมมี โดนัลด์สัน หรือที่ในโลกออนไลน์รู้จักกันในชื่อ ‘มิสเตอร์บีสต์’ (MrBeast) หนึ่งในยูทูบเบอร์ที่ร้อนแรงที่สุดในยุคนี้ และความโด่งดังของเขาก็มาพร้อมกับเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งทำให้หนุ่มวัย ๒๕ ปีผู้นี้มีทรัพย์สินมากถึง ๑๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ในปี ๒๐๒๓ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าเท่าตัวโดนัลด์สันอัปโหลดวิดีโอลงบนยูทูบครั้งแรกตั้งแต่ตอนอายุแค่ ๑๓ ปี ในช่องที่ชื่อว่า MrBeast๖๐๐๐ จนถึงตอนนี้เขามีผู้ติดตามมากกว่า ๒๐๐ ล้านซับสไครบ์แล้ว เขายังแตกแขนงสายงานไปทำเชนอาหารฟาสต์ฟู้ดของตัวเอง และธุรกิจอื่นๆ แต่คนก็ยังรู้จักเขาดีที่สุดในฐานะยูทูบเบอร์อยู่ดีมิสเตอร์บีสต์ ทำคลิปวิดีโอรับคำท้าทาย เริ่มจากคำท้าเล็กๆ น้อยๆ อย่างพูดชื่อ “โลแกน พอล” ๑๐๐,๐๐๐ ครั้ง หรือให้ทิปพนักงานส่งพิซซ่าหลายร้อยดอลลาร์ ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม และโดนัลด์สันก็ไม่หยุดแค่นั้น เขาเพิ่มการลงทุนในการผลิตคลิปมากขึ้นเรื่อยๆ บางคลิปใช้เงินหลักล้านดอลลาร์ เนื่องจากเขาต้องการนำรายได้ที่ได้มา ลงทุนกลับไปในคลิปของเขาทุกบาททุกสตางค์โดนัลด์สันยังมีชื่อด้านการกุศล เขาร่วมระดมทุนทำโครงการปลูกต้นไม้ ๒๐ ล้านต้น และเก็บขยะพลาสติก ๓๐ ล้านปอนด์จากชายหาดผ่านแคมเปญ “ทีมทรีส์” (Team Trees) และ “ทีมซีส์” (Team Seas) จนถูกคนบางกลุ่มครหาว่าสร้างภาพ แต่ถ้าเขาลงทุนมหาศาลกับการสร้างภาพ แล้วมันช่วยเพิ่มต้นไม้และลดขยะจากธรรมชาติลงได้ ก็นับเป็นเรื่องดีมิใช่หรือ?tt ttโดนัลด์ ทัสก์ – ความหวังฝ่ายสายกลางตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา ชาย ๒ คนต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้นำของประเทศโปแลนด์ ฝ่ายหนึ่งคือ โดนัลด์ ทัสก์ อดีตนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรป ก่อนจะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรค ‘ซิวิค แพลตฟอร์ม’ (PO) ส่วนอีกฝ่ายคือ ยาโรสลาฟ คัชชินสกี หัวหน้าพรรคกฎหมายและความยุติธรรม (PiS) นักชาตินิยมฝ่ายขวาหลังจากโปแลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของคัชชินสกีมานาน ๘ ปี สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงก็มาถึง เมื่อนายทัสก์แสดงให้เห็นในการเลือกตั้งเดือนตุลาคมว่า เขายังมีเสน่ห์ดึงดูด สามารถรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ฝ่ายกลางขวาจนถึงฝ่ายซ้ายให้มาเป็นรัฐบาลร่วมได้สำเร็จ แม้ฝ่าย PiS จะพยายามพลิกเกมโดยใช้สื่อที่ถูกรัฐควบคุมอย่างหนักก็ตามชัยชนะในการเลือกตั้งของทัสก์ฉายแสงแห่งความหวังไปทั่วยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญคลื่นฝ่ายขวาถาโถม ตั้งแต่การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีของนางจอร์เจีย เมโลนี, โรเบิร์ต ฟีโก สหายปูตินได้กลับเป็นผู้นำสโลวาเกีย ขณะที่พรรค Alternative for Germany ฝ่ายขวาจัดในเยอรมนีก็กำลังมีคะแนนนิยมเพิ่มสูง เช่นเดียวกับพรรค Fidesz ของนายวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีอิตาลี มหามิตรของปูตินในยุโรปผู้ที่ดีใจที่สุดในชัยชนะของทัสก์คงหนีไม่พ้นกลุ่มสหภาพยุโรป เพราะพวกเขาอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับรัฐบาลโปแลนด์ภายใต้การบริหารของ PiS มาตลอด โปแลนด์ของคัชชินสกีออกนโยบายปฏิรูปมากมายที่ศาลยุติธรรมยุโรปตัดสินว่าลดทอนเสรีภาพของฝ่ายตุลาการ ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของ EU อย่างหนัก และโหวตค้านร่างกฎหมายสำคัญของ EU ด้วยการกลับมาของทัสก์ ซึ่งให้คำมั่นว่าจะย้อนคืนการปฏิรูปศาลของรัฐบาลก่อน น่าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์กับ EU กลับมาราบรื่น และทำให้ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ ๕ ของสหภาพยุโรปแห่งนี้ กลับมาเป็นหัวใจสำคัญในการออกนโยบายต่างๆ ของ EU อีกครั้งผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรีที่มา : politico, bbc, time