คนไทยรุ่นใหม่ สนใจเรื่อง “ความตาย” ต่อคิวใช้บริการ “นักวางแผนความตาย” ก่อนวันสุดท้ายของชีวิต เพื่อให้หมดห่วง และมีการใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณค่า เมื่อวันที่ ๒ ม.ค. ๖๗ ผู้สื่อข่าวพบกระแสนิยมของคนไทยยุคดิจิทัลที่เปิดใจรับแนวคิดเกี่ยวกับ “ความตาย” จนเกิดบริการแปลกใหม่ คือการให้คำปรึกษาวางแผนเตรียมตัวตายดี หรือ “pre-death planning” โดย death plannertt tt น.ส.ปิญชาดา ผ่องนพคุณ หรือ กอเตย วัย ๓๖ ปี นักวางแผนความตาย หรือ “death planner” จากกลุ่ม “เบาใจ แฟมิลี” (Baojai Family) เผยว่า อาชีพนี้ในต่างประเทศมีมานาน แต่ในไทยอาจจะพูดได้ว่าตนเป็นคนแรก เหตุที่ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ มาจากการที่ต้องดูแลพ่อที่ป่วยโรคมะเร็งปอด จึงไปศึกษาข้อมูลเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองจากกลุ่ม peaceful death -มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา-มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา-พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ และสามารถนำความรู้มาใช้ส่งพ่อจากโลกไปอย่างสงบ จึงสนใจศึกษาแบบจริงจัง ได้เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ และผ่านหลักสูตร End-Of-Life and Palliative Care ได้ Certificate นำมาสู่การทำงานเป็น “นักออกแบบความตาย” ในที่สุด น.ส.ปิญชาดา กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีนักวางแผนความตาย เพราะในช่วงที่คนเราจะเข้าสู่วาระสุดท้ายมีแนวโน้มว่าจะไม่มีสติ ไม่อาจสื่อสารตัดสินใจได้ เช่น จะให้ยื้อชีวิตต่อหรือไม่ บางคนกลัวที่จะสื่อสารเรื่องนี้กับคนในครอบครัวก่อนตาย นักวางแผนความตายจึงจะมาทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ โดยแนะนำในแง่มิติของหลักกฎหมาย เช่น จะยื้อชีวิตหรือไม่ แง่ความรู้สึกกับคนใกล้ชิด ค้นหาความภูมิใจและสิ่งที่ซ่อนลึก สิ่งที่อยากทำก่อนตาย ไปถึงการแจ้งสิทธิ์ตายดีให้ทราบ ไฮไลต์คือการลงมือเขียนแผนการตายใน “สมุดเบาใจ” เพื่อให้เห็นว่ามีอะไรบ้างที่ต้องทำ โดยจะออกแบบให้ว่าอะไรต้องทำก่อนหลัง ติดตามลูกค้าว่าได้ทำหรือยัง ผู้มาใช้บริการจึงเบาใจหมดห่วง ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณค่า การให้บริการไม่มีผลประโยชน์ทางการค้าเรื่องอื่นแอบแฝง ให้บริการทั้งแบบตัวต่อตัว แบบคู่ แบบครอบครัว ส่วนใหญ่พบลูกค้าจะกังวลความเจ็บปวดทรมานก่อนตาย ไม่อยากเป็นภาระ ห่วงลูก อยากให้ของบางสิ่งกับคนที่รักก่อนตายเพราะสัญญาไว้ อยากเจอคนที่เคยมีบุญคุณ อยากขอโทษหรือให้อภัยคนอื่น ห่วงทรัพย์สิน ฯลฯ tt tt “๔ ปี ในการทำอาชีพนี้ ได้ให้บริการลูกค้าไปแล้ว ๒๑๖ ราย เสียชีวิต ๔ ราย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย ๓๔ ถึง ๔๐ เศษ หรือเป็นคน GEN Y เป็นหญิงมากถึง ๗๐% ส่วนใหญ่เป็นโสด เป็นม่าย อยู่คนเดียว เป็นลูกค้า LGBTQ+ ๒๐% ชาย ๑๐% จากลูกค้าคนแรกเป็นชายวัย ๕๘ ปี ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย ที่น่าสนใจคือทุกวันนี้ลูกค้าไม่ได้เป็นผู้ป่วยแล้ว แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเตรียมตัวตาย ส่วนหนึ่งเคยพบความเจ็บปวดทรมานของคนในครอบครัวก่อนตาย และผู้ที่รู้ตัวว่าจะต้องใช้ชีวิตคนเดียวในบั้นปลาย เป็นต้น เฉพาะในปี ๖๖ มีผู้สนใจใช้บริการเพิ่มขึ้นจนต้องจำกัดจำนวน อนาคตขออยากให้มีการตั้งเป็นสถาบันฝึกอบรมอาชีพนี้ เพื่อวางมาตรฐานความรู้ จริยธรรม จึงมีแนวคิดหารือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา เพื่อสร้างรูปแบบ ทั้งมารองรับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุในไทย และเมื่อคนรุ่นใหม่ตื่นตัวสนใจก็ยังสามารถนำไปต่อยอดสู่บริการอื่นควบคู่ไปได้ อาทิ การจัดงานศพแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องจัดในวัด การวางแผนจัดงานศพก่อนตาย ทำแบบเป็นอีเวนต์ นิทรรศการ ตั้งเพียงแค่รูปถ่ายแล้วให้คนมาพูดถึงผู้ตาย เปลี่ยนปาร์ตี้วันเกิดเป็นงานวันตาย หรือ happy death day เป็นต้น” ในส่วนความคิดเห็นของผู้ที่เคยมาใช้บริการ นางพวงชมพู ปาละกูล อายุ ๔๐ ปี นักธุรกิจซื้อ-ขายรถยนต์ กล่าวว่า ตนมีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตปกติ แต่มีความกังวลเรื่องธุรกิจ เรื่องอนาคตการศึกษา และสุขภาพของลูก ทำให้รู้สึกตลอดว่าเราตายไม่ได้ เพราะห่วงลูก ห่วงธุรกิจ หลังวางแผนความตายลงใน “สมุดเบาใจ” รู้สึกเหมือนปลดล็อกสิ่งค้างคาใจ ทั้งค้นพบสัจธรรมชีวิตว่า ทุกอย่างรอบตัวล้วนเป็นแค่หัวโขน ๕ คนสุดท้ายที่เราออกแบบให้อยู่กับเราในห้องไอซียู คือสิ่งสำคัญที่สุด ต้องให้เวลาเขามากที่สุด ก่อนตายตนออกแบบไว้ว่าจะขอให้ญาติเปิดเพลง If there’s any justice ของศิลปิน Lamar ที่ฟังแล้วรู้สึกสนุกสนาน ส่วนงานศพขอไม่รับพวงหรีด แต่ขอเป็นทุนการศึกษาให้ลูกแทน ทั้งจะบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลในโลงจึงไม่ต้องมีร่าง ขอดนตรีบรรเลงบทเพลงแนวให้กำลังใจ เพื่อให้ระลึกถึงกันแต่ไม่ต้องโศกเศร้า โดยระบุชื่อเพื่อนที่จะขอให้มาร้องเพลงให้ในวันตายด้วย tt tt ขณะที่ น.ส.พชร โตอ่วม วัย ๓๖ ปี อาชีพนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา กล่าวว่า เหตุต้องวางแผนความตาย เริ่มมาจากการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น และได้เข้ารับการรักษาจนหายเป็นปกติ ประกอบกับเป็นคนสนใจเรื่องความตายมาก่อน มองความตายเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าไม่ได้ วันหนึ่งเมื่อได้มาวางแผนความตาย เขียนสิ่งที่ต้องทำลงในสมุดเบาใจ ทำให้รู้สึกว่าตอบโจทย์ เหมือนได้ทบทวนชีวิต เห็นในสิ่งที่เป็นคุณค่า ความหมายของชีวิต และสิ่งที่ต้องทำ การเตรียมตัวตายในมุมตน คือไม่ทำภาระให้คนที่จะอยู่ต่อ ไม่ต้องการยื้อชีวิตหากใส่ท่อหายใจ อยากกลับมารักษาตัวที่บ้าน อยู่กับคนใกล้ชิด เชื่อว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่เปิดรับเรื่องนี้ เพราะมีภาระที่ต้องดูแลผู้อื่นอยู่ จึงทำให้ไม่อยากทำตัวเป็นภาระคนรุ่นหลังต่อไป