Sunday, 19 January 2025

ปี ๒๕๖๗ สหรัฐอเมริกาชี้ชะตาสันติภาพ

ปีมังกรทอง ๒๕๖๗ เป็นปีแห่งประชาธิปไตยเบ่งบานเรืองรองอย่างแท้จริง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒,๐๐๐ ล้านคน ใน ๕๐ ประเทศทั่วโลก มีคิวลงคะแนนเสียงเลือกผู้นำคนใหม่ และที่ทั่วโลกจับจ้องไม่กะพริบตา หนีไม่พ้น “ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” พี่ใหญ่จากค่ายประชาธิปไตย ผู้ทรงอิทธิพลในการกำหนดทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ ชี้ชะตาความเป็นไปของโลก ในวันที่ ๕ พฤศจิกายนเต็งหนึ่งจากฝั่งเดโมแครต ยังเป็น “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ วัย ๘๑ ปี ยืนยันความฟิตพร้อมชิงเก้าอี้สมัยที่ ๒ โจมตีทรัมป์เป็นภัยคุกคาม ขณะที่ยังหนุนพันธมิตรอย่างยูเครนและอิสราเอลสู้ศึก แม้จะแอบปรับวาทกรรม “จะสนับสนุนยูเครนเท่าที่สามารถทำได้” จากเดิมที่เคยตกปากรับคำ “จะช่วยเหลือไม่ว่าจะนานเพียงใด”tt ttฝั่งรีพับลิกันเหลือผู้สมัคร ๖ คน นำโดย “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีปากกล้าวัย ๗๗ ปี เป็นตัวเต็งแต่กว่าจะไปถึงฝั่งฝันเป็นผู้นำสมัยที่ ๒ ยังต้องต่อสู้ฝ่าฟันเรื่องปวดหัวน้อยใหญ่ที่เรียงหน้ามาไม่ขาดสาย นับแต่สร้างประวัติศาสตร์ให้โลกจารึกในฐานะอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่ถูกฟ้องร้องเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาเมื่อ ๓๐ มีนาคมจนบัดนี้มีคดีติดตัว ๔ คดี รวม ๙๑ กระทง พ่วงด้วยการถูกตัดสิทธิลงเลือกตั้งในรัฐโคโลราโด และรัฐเมน ฐานเสียงสำคัญของไบเดน หลังถูกชี้ขาดว่าเกี่ยวข้องในเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ ๖ มกราคม๒๕๖๔ ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา ๓ ของบทแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๑๔ ไม่อาจดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกลางได้ ศึกยกนี้ต้องให้ศาลฎีกาสหรัฐฯที่ถูกมองว่ามีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างสูงชี้ขาดต่อไปกระนั้นคดีความฉาวโฉ่กลับยิ่งช่วยเรียกคะแนนนิยมและระดมทุนก้อนโตเป็นล่ำเป็นสัน ผลโพลหลายสำนักชี้ว่าทรัมป์มีคะแนนนำไบเดน รวมทั้งในรัฐสวิงสเตท ๗ รัฐ จากกลยุทธ์เล่นบทเหยื่อล่าแม่มดของไบเดน ถูกปล้นชัยชนะในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๓ ให้คำมั่นจะทำสิ่งที่เริ่มไว้ให้เสร็จสิ้น ก่อสงครามการค้ากับจีนเหมือนเดิม แต่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศอย่างชัดเจน มีความชาตินิยมมากขึ้น ลดความร่วมมือกับหุ้นส่วนและพันธมิตรลง ทรัมป์เคยลั่นวาจาจะประเมินวิสัยทัศน์และพันธกิจของนาโตใหม่ และปฏิเสธความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน ยืนยันว่าตนสามารถยุติการสู้รบภายใน ๒๔ ชั่วโมง และให้น้ำหนักความมั่นคงตามชายแดนสหรัฐฯมากขึ้นกว่าเดิมแต่ก่อนจะไปถึงทำเนียบขาว ทรัมป์ต้องผ่านคู่แข่งด่านแรกไปให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น “รอน ดีซานติส” ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา วัย ๔๕ ปี ที่เคยมาแรง แต่ระยะหลังเริ่มแผ่วจนถูก “นิกกี เฮลีย์” อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ และอดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาไล่บี้จนมีคะแนนนิยมเสมอกัน ดีไม่ดีอาจแซงหน้าได้ในเร็วๆนี้ ด้วยแนวทางหนุนสหรัฐฯให้เฉิดฉายเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในเวทีโลก พร้อมสนับสนุนการเงินแก่พันธมิตรทั้งอิสราเอลและยูเครน ขณะที่ “วิเวก รามาสวามี” นักธุรกิจด้านเทคเชื้อสายอินเดีย วัย ๓๘ ปี เสนอตัวเป็นอีกทางเลือกของทรัมป์มีแนวคิดว่าภัยคุกคามอันดับ ๑ ของกองทัพสหรัฐฯ คือพันธมิตรระหว่างจีนกับรัสเซีย ผู้นำสหรัฐฯควรให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติมากกว่า และต่อต้านการส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนtt ttส่วนคำถามที่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ อภัยโทษให้ตนเองได้หรือไม่? หากถูกตัดสินว่ามีความผิด ยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงไม่สิ้นสุด ทรัมป์เคยทวีตในปี ๒๕๖๑ ย้ำอำนาจเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถให้อภัยโทษทุกกรณี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายส่วนหนึ่งมองว่าไม่มีข้อความใดในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา ๒ หมวด ๒ วรรค ๑ ห้ามการให้อภัยโทษตัวเอง แต่ก็มีอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย มองว่าไม่อาจกระทำได้ โดยอ้างถึงการพิจารณารากศัพท์ของ “Pardon” หรือการอภัยโทษ และเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ มุ่งให้อภัยผู้อื่นไม่ใช่ตัวเองปี ๒๕๖๗ นี้ การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน จะมีความพยายามเช็กกระแสสังคม และปรับเปลี่ยนคีย์เวิร์ดการหาเสียงเอาใจชาวอเมริกัน ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมกลายเป็นแรงกระเพื่อมในทางใดทางหนึ่ง เห็นได้จากช่วงเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา งบประมาณความมั่นคงสำหรับช่วยยูเครนสู้รบรัสเซีย ชะงักงันอยู่ในขั้นตอนสภาคองเกรส และส่งผลให้ “ท่อน้ำเลี้ยง” การทำสงครามตีบตันนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ แม้ยังคงอยู่ภายใต้คอนเซปต์ “จัดระเบียบโลกใหม่” หรือภาษาสวยงามว่า การอยู่ร่วมกันภายใต้กฎเกณฑ์สากล ที่เนื้อแท้สามารถตีความได้ว่า ทางของฉันคือหนทางที่ถูกต้องและทุกคนควรดำเนินรอยตาม แต่ในสภาพความจริงแล้ว อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศที่ถูกตีตราให้เป็น “ผู้ร้าย” ได้รวมตัวกัน ชูคอนเซปต์ที่คล้ายคลึง นั่นคือ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ขายความแตกต่างว่า เรื่องภายในประเทศคุณ เราจะไม่ขอยุ่งวุ่นวายหรือแทรกแซงtt tttt ttสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดยประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” และสหพันธรัฐรัสเซีย นำโดยประธานาธิบดี “วลาดิเมียร์ ปูติน” จะเป็นขั้วหลักในการใช้กลไกกลุ่ม BRICS เดินเกมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยจะต้องมีการแสดงผลลัพธ์ให้เป็นที่ประจักษ์ทางใดทางหนึ่งว่า สิ่งนี้ที่กำลังพยายามผลักดันอยู่ ดีกว่าของพันธมิตรตะวันตกเช่นไร เพื่อใช้เป็นสปริงบอร์ดขยายอิทธิพลต่อไป ซึ่งความร่วมมือที่น่าสนใจนอกจากประเทศโซนอเมริกาใต้แล้ว คือภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่าง “ซาอุดีอาระเบีย” ภายใต้การบริหารของเจ้าชาย “มุฮัมมัด บิน ซัลมาน” และ “อิหร่าน” ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี “อิบรอฮิม ระอีซี” ที่เป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มบริกส์ความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน จะส่งผลให้ดุลอำนาจโลกเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ เพราะไม่ควรลืมว่าสองประเทศดังกล่าวนี้ คือมหาอำนาจของภูมิภาค ที่อยู่ในสมการ “แบ่งแยกและปกครอง” ของกลุ่มอดีตเจ้าอาณานิคมมาช้านาน เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ซาอุฯและอิหร่านแย่งชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาค ขัดแข้งขัดขาการขยายอิทธิพลของกันและกัน โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงและความขัดแย้ง การหารือกันมากขึ้นผ่านกลไกบริกส์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการอุดช่องว่างด้านความสัมพันธ์ข้ามมาดูภูมิภาค “อาเซียน” ๑๐ ชาติ ประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นสมรภูมิแย่งชิงอิทธิพลระหว่างขั้วอำนาจตะวันตก-ตะวันออก มาตั้งแต่ยุค “สงครามเย็น” โดยปีนี้ถือเป็นปีที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในการ “สร้างสมดุล” ไม่ให้ยักษ์ใหญ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบังเกิดความไม่พอใจ รวมทั้งจัดการปัญหารอยร้าวภายในที่เกิดขึ้นในสถานการณ์สงครามกลางเมือง “เมียนมา”“สปป.ลาว” ประธานหมุนเวียนอาเซียนปี ๒๕๖๗ จะต้องลบข้อครหาการอยู่ใต้อิทธิพลจีน และบริหารจัดการความเอกภาพของอาเซียน ที่กำลังถูกมองว่าชาติสมาชิกเกิดการแบ่งขั้วระหว่างอิทธิพลตะวันตก-อิทธิพลตะวันออก ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะด้าน “กระชับความสัมพันธ์” ที่นิยมการ “ดีลส่วนตัว” เจรจาระดับทวิภาคี มากกว่าการดีลในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนtt ttสงครามในเมียนมาจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังกองกำลังต่อต้านรัฐบาลต่างๆ ได้ลิ้มรสชาติของ “ชัยชนะ” ละลายความเชื่อเก่าๆที่ว่ากองทัพทัดมาดอว์ของรัฐบาลคือขุมกำลังที่อันตรายและคงกระพัน สปป.ลาวที่มีความโลว์โปรไฟล์ไม่มีบทบาทโดดเด่นในเวทีสากล อาจถูก “แย่งซีน” ในเรื่องนี้ และอาจทำให้อาเซียนถูกลดความสำคัญลงไปอีกในระดับสากล ในขณะที่ขั้วสงครามเย็นยุคใหม่ กำลังจัดตั้งกลุ่มสมาคมของตัวเองมาบดบังรัศมี กลายเป็นคำถามสำคัญว่า รัฐบาล สปป.ลาว จะไหวหรือไม่ และใครกัน ที่จะขึ้นมาแสดงบทบาทแทนที่ แน่นอนว่าผู้ที่จะดีลกับเมียนมาสำเร็จ จะต้องเป็นประเทศที่มีความนักเลงที่พร้อมจะเล่นนอกกฎพอตัวทั้งหมดทั้งปวงนี้ จึงย้อนกลับไปว่าสหรัฐฯ จะได้ขั้วการเมืองกลุ่มใดมาเป็นรัฐบาล แน่นอนว่าหากเป็นขั้ว “โจ ไบเดน” พรรคเดโมแครตตามเดิม ก็ย่อมหมายถึงการเผชิญหน้าทางอิทธิพลเหมือนกับ ๔ ปีที่ผ่านมา แต่หากสลับกลายเป็นขั้วรีพับลิกันขึ้นมา ก็อาจเป็นโอกาสที่ทั่วโลกจะได้มีการเจรจาต่อรองกันใหม่ เพราะถึงแม้จะชอบสงครามและความขัดแย้งที่หล่อเลี้ยงนายทุนค้าอาวุธเหมือนกัน แต่ก็มีความ “แสร้งว่าดี” น้อยกว่า พร้อมที่จะคุยกันตรงๆว่า คุณต้องการอะไร อยากได้แบบไหนณ เพลานี้ โลกเรากำลังเผชิญกับสงครามใหญ่ ๒ สมรภูมิ นั่นคือ “ยูเครน–รัสเซีย” และ “อิสราเอล–กาซา” ซึ่งยากที่จะจบลงในเร็ววัน การที่มี “ตัวแปร” ใหม่เข้ามา หรือรัฐบาลสหรัฐฯที่มีทิศทางต่างไปจากเดิม จึงย่อมเป็นตัวชี้วัดว่า สถานการณ์จะดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม ตลอดช่วงปี ๒๕๖๖ โลกได้เห็นแล้วว่าการเดินเกมการเมืองของรัฐบาลโจ ไบเดน มีจุดมุ่งหมายในการสร้างระเบียบโลก ตีตราคนที่ไม่มองทางเดียวกันเป็น “ตัวปัญหา” เป็นต้นตอของความวุ่นวายต่างๆนานา แต่นั่นย่อมหมายถึงการทำให้โลกเข้าสู่สูตร “ซีโร่ซัมเกม” ต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะด้วยเหตุนี้ คงไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด หากจะกล่าวว่าเหตุการณ์ใน “สหรัฐฯ” ปีนี้ คือสิ่งที่จะกรุยทางสู่สันติภาพ หรือนำพาโลกเข้าสู่ความขัดแย้งที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ทีมข่าวต่างประเทศอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่