Tuesday, 21 January 2025

นวัตกรรมชุดตรวจโรคไตรู้ผลใน ๕ นาที ฝีมือ “นาโนเทค” เพิ่มโอกาสคนไทยรอดโรคเรื้อรัง

ด็อกเตอร์เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน (RMNS) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค-สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทคประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมคัดกรองโรคไต ได้แก่ AL-Strip (อัล-สตริป) ชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพ สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถตรวจได้ง่ายด้วยตนเอง ทราบผลความเสี่ยงได้ภายใน ๕ นาที และ GO-Sensor Albumin Test (โก-เซ็นเซอร์ อัลบูมิน เทสต์) ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทราบผลตรวจได้ภายใน ๑๐-๓๐ นาที เพื่อแก้ปัญหาโรคไตซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า ๑ ใน ๑๐ ของประชากรทั่วโลกมีอาการไตทำงานผิดปกติ และมีผู้ป่วยประมาณ ๑ ล้านคนที่เสียชีวิตจากอาการไตวายเรื้อรังเนื่องจากไม่ได้เข้ารับการรักษา โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้นเกิดจากค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูงดร.เดือนเพ็ญกล่าวต่อว่า ชุดตรวจโรคไต AL-Strip ใช้งานง่าย เพียงผู้ตรวจหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ แล้วอ่านผลจากแถบสีที่ปรากฏ ก็จะทราบผลการคัดกรองได้ทันที โดย AL-Strip ไม่เพียงตรวจง่าย แต่ยังมีจุดแข็งเรื่องราคาที่จับต้องได้ ขณะที่ GO-Sensor Albumin Test เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อการวิเคราะห์ผลทางการแพทย์โดยทีมวิจัยได้พัฒนาใน ๒ ส่วนหลัก คือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ที่ใช้เวลาในการประมวลผลเพียง ๑๐-๓๐ นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ ตรวจได้ครั้งละ ๑ ตัวอย่าง ภายหลังจากเครื่องประมวลผลเสร็จ ระบบจะส่งข้อมูลเข้าสู่แดชบอร์ด (dashboard) ที่ดูได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก ส่วนที่สองคือน้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไวในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ ๑๐๐ เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญทั้งเครื่องอ่านผลและน้ำยาตรวจผ่านการพัฒนาให้มีราคาที่สถานพยาบาลขนาดเล็กสามารถสั่งซื้อเพื่อใช้งานได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์ยังผ่านการออกแบบให้เหมาะแก่การใช้ตรวจทั้งในสถานพยาบาลและการออกตรวจนอกสถานที่ เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานด้วย“ทั้ง AL-Strip และ GO-Sensor Albumin Test มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีในระดับ TRL๘ หรือพร้อมแก่การผลิตเพื่อการใช้งานจริงแล้ว ผู้ที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือร่วมทำวิจัย ติดต่อ pr@nanotec.or.th” ด็อกเตอร์เดือนเพ็ญกล่าว.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่