Sunday, 19 January 2025

"๗ วันอันตรายปีใหม่" ๕ วัน ตาย ๒๑๒ ศพ อุบัติเหตุรวม ๑,๘๖๐ ครั้ง

03 Jan 2024
113

ศปถ.กำชับดูแลกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว-ดื่มไม่ขับ-ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนในการเดินทาง เมื่อวันที่ ๓ ม.ค. ๖๗ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ ประจำวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ เกิดอุบัติเหตุ ๒๖๖ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๘๔ คน ผู้เสียชีวิต ๒๑ ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๕ วันของการรณรงค์ (๒๙ ธันวาคม๖๖ – ๒ มกราคม๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๑,๘๓๙ ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม ๑,๘๖๐ ราย ผู้เสียชีวิตรวม ๒๑๒ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๑๗ จังหวัด ซึ่ง ศปถ.ได้กำชับดูแลกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมแนะผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยด้าน นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.๒๕๖๗ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.๒๕๖๗ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ ๒๖๖ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๘๔ คน ผู้เสียชีวิต ๒๑ ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ ๔๐.๖ ตัดหน้ากระชั้นชิด ๒๓.๓๑ ดื่มแล้วขับร้อยละ ๑๔.๒๙ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๗.๐๑ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ ๘๖.๐๙ ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๔๖.๒๔ ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ ๓๒.๗๑ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา ๑๖.๐๑-๑๗.๐๐ น. ร้อยละ ๘.๖๕ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ ๓๐-๓๙ ปี ร้อยละ ๑๙.๖๗ จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๑,๗๙๒ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๕๑,๕๕๓ คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี และ จ.สงขลา (จังหวัดละ ๑๒ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี (๑๗ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จ.สงขลา (๓ ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๕ วัน ของการรณรงค์ (๒๙ ธันวาคม๖๖ – ๒ มกราคม๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๑,๘๓๙ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม ๑,๘๖๐ คน ผู้เสียชีวิต รวม ๒๑๒ ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี (๖๙ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี (๗๓ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (๑๕ ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๑๗ จังหวัดขณะที่ นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทาง ให้เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ประสานให้แต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เนื่องจากการเก็บสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง ๕ วันที่ผ่านมาพบว่า การขับรถเร็วยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่งและสถานีรถไฟ ให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังคงเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ขอให้สถานประกอบการที่ให้บริการเช่ารถกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตรวจสอบการมีใบอนุญาตขับขี่ก่อนให้บริการ รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประชาสัมพันธ์ชาวต่างชาติทั้งที่เดินทางมาท่องเที่ยวและทำงานในประเทศไทย ให้ดำเนินการขออนุญาตมีใบขับขี่หากจำเป็นต้องขับขี่ยานพาหนะนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ในวันนี้ยังคงมีการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่ๆ โดยคาดว่าเส้นทางสายหลักมีสภาพการจราจรคล่องตัวขึ้น ทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงในการขับรถ ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตลอดเส้นทางอย่างต่อเนื่อง โดยคุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วและง่วงหลับใน อีกทั้งตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นกับร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ซึ่งเป็นต้นทางของปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับในกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้ ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนดูแลสภาพร่างกายให้พร้อมขับขี่ และตรวจเช็คสภาพรถให้ปลอดภัยก่อนออกเดินทางกลับ ไม่ขับรถเร็ว ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ท้ายนี้หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ๑๗๘๔” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @๑๗๘๔DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.