Sunday, 19 January 2025

“จุลพันธ์” โต้ “ศิริกัญญา” อย่าสร้างวาทกรรม โกง GDP ด้วยการหยิบแค่บางส่วนมาอภิปราย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผิดหวัง “ศิริกัญญา” หยิบตัวเลข GDP บางส่วนมาอภิปรายงบ ๖๗ สร้างวาทกรรม “โกง GDP” หวังจับผิด ชี้เอกสารงบฯ ทั้งเล่มมีหน้าเดียวแสดง Nominal GDP นอกนั้นแสดงปกติที่ ๓.๒%วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๗ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพบว่ามีความเข้าใจผิดและสร้างความสับสนให้กับสังคมในหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่า คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในปี ๒๕๖๖ ในเอกสารงบประมาณ ๒ ชุดไม่ตรงกัน และใช้วาทกรรมว่า “โกง GDP” นั้น  ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังที่ น.ส.ศิริกัญญา หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปราย เพราะเข้าใจว่า น.ส.ศิริกัญญา มีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจมากกว่านั้น แต่กลับนำมาเป็นวาทกรรมทางการเมือง ซึ่งโดยปกติแล้วการคาดการณ์ GDP มี ๒ รูปแบบ คือ ๑. “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน” หรือ Nominal GDP คือค่า GDP ที่ได้จากการคำนวณมูลค่าของสินค้า หรือการลงทุนแบบตรงไปตรงมา “โดยไม่ได้นำอัตราเงินเฟ้อ เงินฝืด หรือค่าเงิน ณ ขณะนั้นมาคำนวณด้วย” ซึ่งตัวเลข GDP ที่แสดงในเอกสารงบประมาณที่ ๕.๔% เป็นการแสดงตัวเลขการคำนวณรายได้ของสำนักงบประมาณ เป็นการทำงานโดยปกติ หน้าอื่นของงบประมาณแสดงตัวเลขเป็น Real GDP มีเพียงหน้านั้นหน้าเดียวที่โชว์เป็น nominal สาเหตุที่ต้องรวมผลกระทบเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นตัวเลข nominal เช่นเดียวกัน ถ้าจะโกงตัวเลข ทุกหน้าก็ต้องเปลี่ยนเป็น ๕.๔% แต่ น.ส.ศิริกัญญา กลับหยิบยกหน้านี้ขึ้นมาโดยหวังให้มีประเด็นส่วน GDP ที่ ๓.๒% เป็นการคำนวณ GDP ในแบบที่ ๒. “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง” หรือ Real GDP คือ ค่า GDP ที่ได้จากการนำอัตราเศรษฐกิจต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ เงินฝืด และอัตราค่าเงินมาคิดคำนวณด้วย ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับการจัดทำประมาณการจัดเก็บรายได้ และโดยปกติในการรายงาน GDP ของทุกสำนัก จะใช้ตัวเลขนี้ ซึ่งในเอกสารงบประมาณทุกหน้า ก็ใช้ตัวเลขนี้ทั้งเล่ม “เป็นแค่วาทกรรม คงไม่ได้สร้างความสับสนให้ประชาชน โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่อยู่ในสายการเงิน การคลัง จะเข้าใจอยู่แล้วครับ เป็นตัวเลขหนึ่งที่นำเสนอในเอกสารงบประมาณเท่านั้น ซึ่งเอกสารทุกหน้าแสดงตัวเลข GDP ที่ ๓.๒% เวลาเปรียบเทียบกับงบประมาณ คือการจัดเก็บจริง จึงเอาตัวเลขที่เป็น Nominal GDP มาแสดงให้เห็น ซึ่งตรงนี้มันเป็นหลักการที่ทำมาโดยตลอด” นายจุลพันธ์ กล่าว