Monday, 20 January 2025

๗ วันอันตรายช่วงปีใหม่ ครบวันที่ ๖ ดับแล้ว ๒๕๖ ศพ บาดเจ็บ ๒,๑๐๖ ราย

04 Jan 2024
142

ศปถ. ประสานจังหวัด ขับเคลื่อนมาตรการสร้างความตระหนักการใช้รถจักรยานยนต์ปลอดภัย-เตรียมสรุปผลดำเนินงานลดอุบัติเหตุปีใหม่ ๖๗ พบ ๖ วัน เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๐๘๓ ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม ๒,๑๐๖ ราย ผู้เสียชีวิตรวม ๒๕๖ รายเมื่อวันที่ ๔ ม.ค. ๖๗ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ ประจำวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๗ เกิดอุบัติเหตุ ๒๓๙ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๕๐ คน ผู้เสียชีวิต ๓๕ ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๖ วันของการรณรงค์ (๒๙ ธ.ค. ๖๖ – ๓ ม.ค. ๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๐๘๓ ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม ๒,๑๐๖ ราย ผู้เสียชีวิตรวม ๒๕๖ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๑๑ จังหวัด ซึ่ง ศปถ. ได้ประสานจังหวัด องค์กรภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนมาตรการสวมหมวกนิรภัย ๑๐๐% พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้พฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืนนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๗ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นวันที่ ๖ ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ ๒๓๙ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๕๐ คน ผู้เสียชีวิต ๓๕ ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ ๓๗.๖๖ ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ ๒๑.๗๖ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ ๑๔.๖๔ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๔.๐๗ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ ๘๔.๑๐ ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๔๔.๓๕ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ ๒๔.๒๗ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา ๑๕.๐๑-๑๖.๐๐ น. ร้อยละ ๙.๖๒ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ ๕๐-๕๙ ปี ร้อยละ ๒๑.๐๕ จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๑,๗๘๙ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๕๑,๕๑๕ คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (๑๑ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (๑๕ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครปฐม (๓ ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๖ วันของการรณรงค์ (๒๙ ธ.ค. ๖๖ – ๓ มกราคม ๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๐๘๓ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม ๒,๑๐๖ คน ผู้เสียชีวิต รวม ๒๕๖ ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (๗๗ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (๘๓ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (๑๗ ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๑๑ จังหวัดนายสุเทพ แก่งสันเทียะ กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงหกวันที่ผ่านมา พบว่ายานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ ๘๔.๐๗ เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ และความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการใช้ยานพาหนะดังกล่าว ขอให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ขอให้จังหวัด หน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ต่อให้เกิดอุบัติเหตุให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การตัดหน้ากระชั้นชิด และการไม่สวมหมวกนิรภัย นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือให้จังหวัดขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านการสวมหมวกนิรภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ลงไปถึงระดับพื้นที่ ทั้งในสถานศึกษา ชุมชน และหมู่บ้าน โดยในชุมชน หมู่บ้าน ให้ทำประชาคมกำหนดเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนเกิดความปลอดภัยเมื่อใช้รถจักรยานยนต์นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพการจราจรวันนี้ พบว่าเส้นทางสายหลักมีสภาพการจราจรคล่องตัวขึ้น จึงคาดการณ์ว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานครและพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่ๆ เรียบร้อยแล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ประสานจังหวัดเตรียมสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๖ – ๔ มกราคม ๒๕๖๗ ผ่านกลไกสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะระบบรายงานอุบัติเหตุทางถนน e-Report ข้อมูลการสอบสวน ข้อมูลเชิงลึกกรณีเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนต่อไป ทั้งนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ๑๗๘๔” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @๑๗๘๔DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป