หากสามารถเดินทางไกลออกไปนอกกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา และมองย้อนกลับไปดูทางช้างเผือกได้ เราจะเห็นภาพอันสวยงามมาก มีเกลียวกังหันเรืองแสงทอดยาวจากแกนกลางกาแล็กซี มีฝุ่นและเนบิวลากระจายอยู่ตามขอบเกลียวกังหัน ภาพเหล่านี้ล้วนเป็นภาพจำส่วนใหญ่ของผู้คนเกี่ยวกับกาแล็กซีกาแล็กซีจะวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ก่อตัวจากเมฆทึบของไฮโดรเจนและฮีเลียมในยุคดึกดำบรรพ์ ในช่วงแรกๆนั้นน่าจะมีโครงสร้างที่ค่อนข้างมีการเรียงตัวอย่างไม่เป็นระบบ และเมื่อพิจารณาจากความหนาแน่นของสิ่งต่างๆในเอกภพหรือจักรวาลในยุคแรกๆ การที่กาแล็กซีจะชนกันหรือควบรวมกันก็นับเป็นเรื่องปกติ ซึ่งกาแล็กซีก็จะหมุนรอบตัวเองจนก่อให้เกิดแผ่นจานฝุ่นก๊าซ แล้วก็วนเป็นเหมือนก้นหอยหรือแขนกังหัน ทว่าทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลานานอักโข นักดาราศาสตร์คาดว่ากาแล็กซีทรงกังหันจะมีอยู่ทั่วไปในกาแล็กซีกลุ่มท้องถิ่น แต่หาได้ยากในจักรวาลยุคแรกเพื่อพิสูจน์การคาดเดานั้น ทีมนักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งเผยว่า เมื่อใช้ข้อมูลของ Cosmic Evolution Early Release Science Survey (CEERS) ซึ่งรวบรวมโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ทำให้ทีมระบุกาแล็กซี ๘๗๓ แห่ง มีมวลมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ จากนั้นใช้ปรากฏการณ์ “การเลื่อนไปทางแดง” ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อการแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ก็พบว่ากาแล็กซีเหล่านั้นอายุระหว่าง ๕,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ ล้านปี และในจำนวนนี้มีกาแล็กซี ๒๑๖ แห่งจัดอยู่ในประเภททรงกังหัน และ ๑๐๘ แห่งก็ได้รับการจำแนกอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นกาแล็กซีทรงกังหัน และระบุว่ากาแล็กซีหลายแห่งพัฒนาเป็นจานทรงกังหันค่อนข้างเร็วในจักรวาล ดังนั้น แม้ว่าการชนกันและการควบรวมกันจะมีบทบาทในการก่อตัวของกาแล็กซีทรงกังหัน แต่ก็อาจมีปัจจัยอื่นๆเข้ามามีบทบาทด้วย นักดาราศาสตร์หวังว่าข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ จะทำให้ระบุได้ว่ากาแล็กซียุคแรกๆในจักรวาลมีวิวัฒนาการอย่างไร และเหตุใดกาแล็กซีทรงกังหันจึงมีมานาน.Credit : NASA, ESA, and the Hubble Heritage Team (STScI/AURA)อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่