Saturday, 21 December 2024

“พริษฐ์” แนะ ผ่าตัดหัวใจ ๔ ห้องงบประมาณ แก้วิกฤติการศึกษา

“พริษฐ์ วัชรสินธุ” ชี้ วิกฤติการศึกษา ปัญหาไม่ใช่ปริมาณ แต่คือการจัดสรรทรัพยากร แนะทางออกต้องผ่าตัด “หัวใจ ๔ ห้อง” ของงบการศึกษา ยันแก้เรื่องทุจริตไม่ได้ ถ้าโรงเรียนยังรับแป๊ะเจี๊ยะวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๗ เมื่อเวลา ๑๒.๕๗ น. ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๗ วาระแรก วงเงิน ๓,๔๘๐,๐๐๐ ล้านบาทนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องวิกฤติการศึกษาไทย ว่า มีถึง ๓ วิกฤติ คือ สมรถนะของเด็กไทยสู้เด็กต่างชาติไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำทำเด็กไทยมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน โดยพบช่องว่างคะแนน PISA ของเด็กรวย และเด็กจน มีช่องว่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว และวิกฤติความเป็นอยู่ที่เด็กไทยไม่มีความสุขในโรงเรียน มีเด็กไทยต้องอดอาหารอย่างน้อย ๑ มื้อต่อสัปดาห์ และมีความปลอดภัยในโรงเรียนน้อยเป็นอันดับ ๔ ของโลก ขณะที่เด็กไทยมีเวลาเรียนเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนครูก็ลงแรงเรื่องการทำงานเยอะมาก และประเทศก็ลงทุนด้านการศึกษาไปจำนวนมาก แต่ก็ยังพบกับวิกฤติของระบบการศึกษา ดังนั้นปัญหาไม่ใช่ปริมาณ แต่คือการจัดสรรทรัพยากร  ทางออกของวิกฤติการศึกษา คือ ต้องผ่าตัด “หัวใจ ๔ ห้อง” ของงบการศึกษา คือ งบนโยบายที่ยังคงเป็นเบี้ยหัวแตก และมีเนื้อหาคล้ายเดิม โครงการของกระทรวงเป็นภาระงานครูที่กระทบการสอนมากที่สุด โดยมีสูงถึง ๔๐%+ ที่เอาเวลาทำงานครูใช้ไปกับภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เช่น โครงการจริยกรรม-ทุจริต-ยาเสพติด ที่ได้งบเพิ่มขึ้นทุกปี ตนเองไม่ได้ต่อต้าน แต่ไม่คิดว่าจะทำเป็นโครงงานทำไม เพราะควรใช้เป็นกระบวนการแทรกซึมลงไปในห้องเรียนมากกว่า “เราจะไปต่อต้านการทุจริตได้อย่างไร หากเรายังมีโรงเรียนที่เรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะ หรือรับเงินใต้โต๊ะจากผู้รับเหมา เราจะไปคาดหวังให้นักเรียนหยุดบูลลี่ กลั่นแกล้งกันและกันได้อย่างไร หากเรายังไม่กล้าไปลงโทษครูที่ไปกลั่นแกล้งทำร้ายร่างกาย และละเมิดสิทธินักเรียน เราจะไปคาดหวังให้นักเรียนไม่ไปลอกการบ้านเพื่อน ลอกการบ้านกันและกันได้ยังไง หากเรายังมีคนออกข้อสอบการเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ไปลอกข้อสอบมาจากต่างประเทศ”นายพริษฐ์ ยังกล่าวถึงโครงการที่ควรมี กลับยังไม่มี คือ การไม่เดินหน้าจัดทำหลักสูตรใหม่ให้สำเร็จ ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยยังใช้หลักสูตรการศึกษาเดิมที่ยาวนานถึง ๒๐ ปี ขณะที่งบลงทุน อยากถามว่าใช้เกณฑ์อะไรในการปรับงบลงทุน โดยเฉพาะอาคารสำหรับเด็กด้อยโอกาส เหมือนเป็นการจัดงบแบบอ่อนแอก็แพ้ไป และซ้ำเติมมากกว่า รวมถึงการปรับลดงบโครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ แต่จังหวัดที่มี สส.พรรคภูมิใจไทย กลับมีงบลงทุนเยอะสุด ส่วนเงินอุดหนุนนักเรียน เสนอให้เพิ่มเงินอุดหนุนกับเด็กยากจน ครอบคลุมระดับอนุบาล และ ม.ปลาย เพื่อป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เด็กยากจนที่ตกสำรวจ ๑ ล้านคน และเพิ่มเงินค่าอาหารกลางวัน ม.ต้นในโรงเรียนขยายโอกาส รวมอย่างน้อย ๕,๐๐๐ ล้านบาทขณะที่เรื่องงบบุคลากรที่เป็นสิ่งที่ใช้งบประมาณมากที่สุด ต้องแก้ปัญหาครูกระจุก และอำนาจกระจุก ควรกระจายอำนาจกันมากขึ้น “หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล หรือหากรัฐบาลนี้จะรับฟังข้อเสนอของเราในฐานะฝ่ายค้าน ผมยืนยันว่าวิกฤติการศึกษาไทยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากเราไม่ผ่าตัดหัวใจทั้ง ๔ ห้องด้านการศึกษา”นายพริษฐ์ ยังกล่าวว่า ต้องยกเลิกโครงการที่ไม่จำเป็นคืนครูให้ห้องเรียน กระจายงบอบรมครูตรงไปที่โรงเรียนและครู และจัดทำหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ รวมถึงต้องประหยัดงบให้ถูกจุด ไม่ซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง กระจายงบอย่างเป็นธรรม-โปร่งใส เพิ่มงบอุดหนุนเด็ก ตัดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองที่ไม่จำเป็น และปฏิรูปโครงสร้างกระทรวง เพื่อลดความซ้ำซ้อน กระจายอำนาจเพิ่มประสิทธิภาพ.