Tuesday, 19 November 2024

พักประชุมสภาวัน ๒ จ่ออภิปรายต่อวันสุดท้าย ก่อนลงมติรับหลักการร่างงบ ๖๗ หรือไม่

หลังจบการอภิปรายคนสุดท้าย “หมออ๋อง” สั่งพักประชุมสภาฯ วันที่ ๒ เตรียมอภิปรายต่อวันสุดท้าย ก่อนลงมติว่าจะรับหลักการร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ ๒๕๖๗ หรือไม่ เข้าสู่เวลา ๐๐.๐๕ น. ของวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๗ นายสังคม แดงโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ประจวบคีรีขันธ์ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๒ ว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแก้ปัญหาให้คนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ขอให้สนับสนุบให้โครงการต่างๆ เกิดความยั่งยืน ซึ่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็มีหลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ อ่างเก็บน้ำยางชุม ทำให้พี่น้องชาวประจวบฯ ไม่ต้องพบกับปัญหาซ้ำซาก อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าพื้นที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทุกวันนี้มีช้างป่าและกระทิงเพิ่มมากขึ้น จนต้องออกมาหากินบริเวณแนวป่า แต่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาช่วยเหลือ คือเพิ่มแหล่งน้ำและแหล่งอาหารไม่ให้ช้างป่ามาบุกรุก และเพื่อให้คนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้ ขณะที่โครงการชั่งหัวมัน ก็เป็นแหล่งพัฒนาอาชีพให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม โดยอยากฝากรัฐบาลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพให้พี่น้องคนไทยได้อย่างยั่งยืนtt ttจากนั้นเวลา ๐๐.๑๒ น. นายธนา กิจไพบูลย์ชัย สส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายต่อในเรื่องงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ขอชื่นชม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้นโยบายครูคืนถิ่น เล็งเห็นระบบดิจิทัล และให้ความสำคัญการโยกย้ายครูและบุคลากรการศึกษา โดยปีนี้มีการของบประมาณในการดำเนินการระบบอิเล็กทรอนิกส์ไป ๒๐ ล้านบาท หากพัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์จะลดภาระอย่างมาก และยังโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ที่รู้สึกไม่เข้าใจคือ เหตุใดสำนักงบประมาณจึงตัดงบส่วนนี้ไป ทั้งที่ปัญหาการขอโยกย้ายเป็นปัญหาก่อให้เกิดหนี้สินกับบุคลากรทางการศึกษามากมาย ใช้หลักเกณฑ์อะไรตัดงบในส่วนนี้ พร้อมฝากว่าในชั้นแปรญัตติขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ ช่วยพิจารณาโครงการนี้เป็นพิเศษ โดยหวังว่าจะเห็นงบประมาณที่มีประโยชน์นี้ใน พระราชบัญญัติงบประมาณ ๒๕๖๗ และเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะใช้งบอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพtt ttต่อมาเวลา ๐๐.๑๖ น. นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเป็นคนสุดท้ายของวัน กล่าวชื่นชมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดงบประมาณดีได้ตรงตามเป้าหมาย ช่วยเหลือในพื้นที่ได้อย่างดี แล้วจึงอภิปรายในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของกรมป่าไม้ ได้งบประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านบาท ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้งบเยอะที่สุดในกระทรวง คือ ๑๙,๐๐๐ ล้านบาท และยังมีเงินนอกงบประมาณด้วย แต่ปัญหาของ ๒ กรมนี้คือ ภารกิจส่วนใหญ่จะซ้ำซ้อนกัน ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน ต้องใช้งบจำนวนมากในการบูรณะประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาทต่อไร่ และเกิดข้อสงสัยว่าถ้าภายใน ๑๐ ปีเกิดน้ำท่วม ไฟไหม้ หน่วยงานไหนจะรับผิดชอบพื้นที่ป่าที่ปลูกนอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ มียังปัญหาเรื่องจากการจัดเก็บค่าเข้าอุทยาน ซึ่งปีนี้ไตรมาสแรกตั้งยอดไว้ที่ ๕๐๐ ล้านบาท แต่ความจริงอาจจะเก็บได้มากกว่านี้ โดยปัญหาที่ผ่านมาคือ มีปัญหาจัดเก็บค่าเข้าชมอุทยานในแต่ละพื้นที่ ทั้งคนจัดเก็บ และเครื่องจำหน่ายบัตรค่าบริการ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีจรรยาบรรณก็อาจเกิดการทุจริตในการเก็บค่าบริการได้ ต่อมามีเอกสารจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ใช้ระบบจำหน่ายตั๋วอีทิกเก็ต แต่ใช้ได้ไม่ถึงปีกลับมีคำสั่งยกเลิก เกิดคำถามว่าจะมีผลผูกพันงบประมาณซ่อมบำรุงและจัดเก็บตั๋วหรือไม่ ขณะที่เรื่องอากาศสะอาด คาร์บอนเครดิต พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปประชุม COP๒๘ โดยได้แสดงจุดยืนชัดเจนในเรื่องสภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก รวมถึง PM ๒.๕ จึงอยากให้เสนอนำมาประกาศเป็นวาระแห่งชาติด้วยtt ttหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายคนสุดท้าย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ ๑ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้กดออดเพื่อพักการประชุมในวันที่ ๒ เมื่อเวลา ๐๐.๒๙ น. โดยวันนี้ถือว่าการอภิปรายจบในกรอบเวลาที่กำหนดคือ ๐๐.๓๐ น. โดยจะเริ่มการประชุมร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ ๒๕๖๗ ในวันที่ ๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. โดยเมื่ออภิปรายเสร็จสิ้น จะมีการลงมติว่าจะรับร่างในวาระ ๑ หรือหากผ่านสภาฯ ในขั้นนี้ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ต่อไป.