มดมาตาเบเล (Megaponera analis) หรือมดมาตาเบเลแอฟริกา ได้ฉายาว่าเป็น “แพทย์มด” กระจายอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา อาหารที่มันกินมีเฉพาะปลวกเท่านั้น แต่การล่าปลวกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังเป็นอันตรายต่อมด เพราะปลวกจะมีปฏิบัติการเสมือนกองทหารเพื่อปกป้องกลุ่มของพวกมัน จึงเป็นเรื่องปกติที่มดจะได้รับบาดเจ็บขณะล่าปลวก และหากบาดแผลติดเชื้อก็มีความเสี่ยงมากและอาจไม่รอดชีวิตทว่ามดมาตาเบเลมีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของตนที่ซับซ้อน เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานในวารสาร Nature Communications จากทีมวิจัยนำโดย ด็อกเตอร์อีริก แฟรงก์ จากมหาวิทยาลัยยูลิอุส-มักซีมีเลียน แห่งเวือทซ์บวร์ค (JMU) ในเยอรมนี และศาสตราจารย์โลรองต์ เคลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่ามดมาตาเบเลมีความชาญฉลาดในการแยกแยะบาดแผลที่ไม่ติดเชื้อและบาดแผลที่ติดเชื้อได้ และรักษากันด้วยยาปฏิชีวนะที่มดสร้างเอง ซึ่งการวิเคราะห์ทางเคมีโดยความร่วมมือกับศาสตราจารย์ โธมัส ชมิทท์ จาก JMU ชี้ว่ารูปโครงร่างไฮโดรคาร์บอนของผิวชั้นนอกของผนังลำตัวมดเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลจากการติดเชื้อที่บาดแผล การเปลี่ยนแปลงนี้เองที่มดรับรู้และวินิจฉัยสภาพการติดเชื้อของเพื่อนมดที่ได้รับบาดเจ็บได้ในการรักษาแบบมดๆก็คือมดจะทาสารต้านจุลชีพและโปรตีนบนบาดแผลที่ติดเชื้อ พวกมันใช้ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จากต่อม metapleural อยู่ที่ด้านข้างของทรวงอก สารคัดหลั่งประกอบด้วยส่วนประกอบ ๑๑๒ ชนิด โดยครึ่งหนึ่งมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ หรือช่วยสมานแผล การบำบัดมีประสิทธิภาพสูง นักวิจัยพบว่าอัตราการตายของมดติดเชื้อลดลง ๙๐% สิ่งนี้ทำให้นักวิจัยวางแผนวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะ เพราะเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ที่เป็นเชื้อโรคในบาดแผลของมด ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในมนุษย์เช่นกัน.Credit : Erik Frank, University of Würzburgอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่