Sunday, 19 January 2025

"สิริพงศ์" โต้ "วิโรจน์" ใช้ความจริงครึ่งเดียว อภิปรายงบประมาณปี ๖๗ ศธ.

“สิริพงศ์” โฆษก กระทรวงศึกษาธิการโต้ “วิโรจน์” ใช้ความจริงครึ่งเดียวอภิปรายงบ ศธ. ยัน จัดสรรงบอาชีวะตามศักยภาพจังหวัด ไม่เกี่ยวจำนวน สส.ภูมิใจไทย-เมินเหน็บ รัฐมนตรีว่าการชื่อ”เพิ่มพูน” แต่ กระทรวงศึกษาธิการถดถอย ขอทำผลงานแก้ปัญหาการศึกษา วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๕.๓๐ น. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แถลงชี้แจงข้อมูลการอภิปรายด้านการศึกษาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ว่า การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนเกิดจากความไม่เข้าใจในการจัดทำงบประมาณในภาพรวม ทั้งยังให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน และไม่ครบถ้วน เช่น ประเด็นของงบประมาณที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาได้รับแตกต่างกันไปนั้น เพราะกระทรวงศึกษาธิการมีขั้นตอนการเสนองบประมาณผ่านคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ขึ้นมาก่อน ซึ่งการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ ก็ดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น โดยได้ยกตัวอย่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างดีแม้จะเป็นจังหวัดที่มีหลายพรรคการเมือง สถานศึกษาอาชีวศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีระบบทวิภาคีที่เข้มแข็งทั้งในสาขาแอร์โฮสเตส ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นต้น นอกจากนี้ จำนวนประชากรก็มีผลต่อสัดส่วนงบประมาณและจำนวนสถานศึกษาอาชีวศึกษาด้วยเช่นกัน เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ที่ได้รับงบประมาณมาก เพราะมีประชากรกว่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน ในส่วนของผลคะแนน PISA ของนักเรียนไทย ในความเป็นจริงพบว่า คะแนนของโรงเรียนในกลุ่มวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ หรือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็สามารถทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสิงคโปร์เช่นเดียวกัน รวมทั้งในเรื่องของหลักสูตร ที่เราได้จัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลาง ประกอบด้วยวิชาที่มีความสำคัญในการเรียน แต่อาจจะเป็นที่รูปแบบการจัดการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้เราได้เปิดกว้างให้แต่ละสถานศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอนของตนเองได้ เช่น หลักสูตรอิงลิชโปรแกรม มินิอิงลิชโปรแกรม ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือ Gifted ห้องเรียนภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ภายใต้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ ทั้งนี้ ยอมรับว่าการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำและไม่เสมอภาคทางการศึกษา แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญผ่านนโยบาย Anywhere Anytime เพื่อสร้างการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาให้กับผู้เรียนทุกคน ส่วนประเด็นของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีการกล่าวหาว่าเป็นภาระงบประมาณนั้น แม้การยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะช่วยลดภาระได้ แต่เรามีความจำเป็นต้องทำให้การศึกษาไทยเดินหน้า ทำให้โรงเรียนและสังคมอยู่ร่วมกันได้ด้วย จึงได้พยายามเพิ่มโรงเรียนคุณภาพในระดับตำบลและอำเภอ เพื่อเปิดทางเลือกและเตรียมสถานศึกษาให้กับเยาวชนที่สมัครใจย้ายก่อน ดีกว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปเลยท้ายสุด การเปรียบเทียบงบประมาณดำเนินงาน และรายจ่ายอื่น ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงสาธารณสุขนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะบริบททั้ง ๒ กระทรวงมีความแตกต่างกัน โดยโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนตามจำนวนหัวของนักเรียน เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของงบประมาณ และไม่มีเงินนอกงบประมาณอย่างอื่น ส่วนเงินจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาเป็นงบประมาณส่วนเติมเต็มให้กับโรงเรียนที่ยังขาดโอกาสเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการในยุคพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ให้ความสำคัญต่อการศึกษาโดยจะเห็นได้จากนโยบายทางการศึกษา ที่รู้ปัญหาจริง และมีแนวคิดแก้ปัญหาการศึกษาอย่างยั่งยืน