Friday, 15 November 2024

สรุปปีใหม่ ๗ วัน ตาย ๒๘๔ กทม.แชมป์ ๑๙ เจ็บ ๒,๓๐๗

06 Jan 2024
120

ปิดจ๊อบการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนช่วง ๗ วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ สรุปยอดรวมอุบัติเหตุ ๒,๒๘๘ ครั้ง บาดเจ็บ ๒,๓๐๗ คน เสียชีวิตรวม ๒๘๔ รายเผย ๑๑ จังหวัดไร้คนตาย วอนถอดบทเรียนอุบัติเหตุทางถนนทุกมิติ วางมาตรการสร้างการสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ประธานมูลนิธิประชาปลอดภัย ปลื้มอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ปีนี้ ยอดเสียชีวิตลด ระบุเป็นผลการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น บอกเป็นปีแรกในรอบ ๑๐ ปีที่ตายต่ำกว่า ๓๐๐ ขอบคุณบิ๊กโจ๊ก-ตร.-จนท.ทุกหน่วยงานกว่า ๕ หมื่นราย ที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่เข้มแข็งจริงจังที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อวันที่ ๕ ม.ค. นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัยสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภาและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ ประจำวันที่ ๔ มกราคม๒๕๖๗นายโชตินรินทร์กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนวันที่ ๔ ม.ค. วันสุดท้ายของการรณรงค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ ๒๐๐ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๐๕ คน ผู้เสียชีวิต ๑๗ ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา ๐๗.๐๑-๐๘.๐๐ น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ ๔๐-๔๙ ปี จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๑,๗๘๕ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๕๑,๔๓๓ คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ ตาก (๑๒ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตาก (๑๕ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ดและสุพรรณบุรี (จังหวัดละ ๓ ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๗ วันของการรณรงค์ (๒๙ ธันวาคม๖๖-๔ มกราคม๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๒๘๘ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม ๒,๓๐๗ คน ผู้เสียชีวิตรวม ๒๘๔ ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี (๘๒ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (๘๙ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (๑๙ ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี ๑๑ จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ตาก นครนายก ปัตตานี พิจิตร แม่ฮ่องสอน สตูล สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญนายโชตินรินทร์กล่าวอีกว่า จากสถิติที่มีจำนวนครั้งการเกิด ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลดลงจากปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการทำงานระดับพื้นที่เข้มแข็งในการช่วยป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความร่วมมือของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย แม้สิ้นสุดการดำเนินงานช่วงปีใหม่ ๒๕๖๗ แล้ว ศูนย์จะประสานจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เขต (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคประชาชน จิตอาสา อาสาสมัครในพื้นที่ ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ในประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์ประสานจังหวัดตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนเพื่อให้ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก พร้อมถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน จะนำปัจจัยแห่งความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหารวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนในการทำงานมาปรับปรุง พัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เหลือ ๑๒ คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ.๒๕๗๐วันเดียวกัน นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะโฆษกกรมคุมประพฤติ แถลงสรุปสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติวันสุดท้ายของ ๗ วันควบคุมเข้มข้นปีใหม่ ๒๕๖๗ ว่า คดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมี ๑,๑๕๐ คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา ๑,๑๐๐ คดี คดีขับรถประมาท ๑ คดี คดีขับเสพ ๔๙ คดี และตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม๒๕๖๖ -๔ มกราคม๒๕๖๗ มี ๘,๑๐๒ คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา ๗,๘๖๔ คดี ขับรถประมาท ๕ คดี คดีขับเสพ๒๓๓ คดี จังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด ๓ อันดับ ได้แก่ กทม. ๔๖๙ คดี นครพนม ๓๕๑ คดี และหนองคาย ๓๒๘ คดี เมื่อเทียบกับสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง ๗ วันในปี ๒๕๖๖ มี ๘,๕๖๗ คดี ปี ๒๕๖๗ จำนวน ๗,๘๖๔ คดี พบคดีขับรถขณะเมาสุราลดลง ๗๐๓คดีนายนิกร จำนง ประธานมูลนิธิประชาปลอดภัย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่อุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีการเสียชีวิต ๒๘๔ ราย ลดลงจากปีที่แล้วที่มีผู้เสียชีวิต ๓๑๗ ราย เท่ากับลดลง ๓๓ รายหรือ ๑๐.๔๑% ถือว่าลดลงมากในสถานการณ์ที่มีคนเดินทางมากขนาดนี้ จากการติดตามพบว่าในปีใหม่ ๒๕๖๗ มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลง อย่างเห็นได้ชัดโดยพบมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นอย่างมาก เพราะมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตำรวจซึ่งรับผิดชอบทางด้านนี้เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่ศูนย์ทุกวัน ตนเดินทางไปต่างจังหวัด พบมีการตั้งด่านตำรวจที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆทุกหน่วย มีความเคร่งครัด รัดกุมกันอย่างมาก มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเกือบ ๕๐,๐๐๐ รายทั่วประเทศ จุดตรวจหลักเกือบ ๒,๐๐๐ จุดทั่วประเทศ ถือว่ามีเจ้าหน้าที่ดูแลมากในปีนี้ เป็นเหตุที่ทำให้สถิติลดลง ที่น่าดีใจคือปีนี้เป็นปีแรกที่ต่ำกว่า ๓๐๐ ราย นับว่าเป็นเรื่องดีอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่