Thursday, 19 December 2024

"จุลพันธ์" เผย "กฤษฎีกา" ยัน ออก พระราชบัญญัติกู้เงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต" ได้

“จุลพันธ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง เผย คกก.กฤษฎีกา ตอบแล้ว ออก พระราชบัญญัติกู้เงิน ๕ แสนล้าน ทำ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ความคุ้มค่า และต้องฟังความเห็นรอบด้าน ลั่น เดินหน้าไทม์ไลน์เดิม ๑ พ.ค. ๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือตอบกลับในข้อกฎหมายเรื่องการกู้เงิน ๕ แสนล้านบาท ดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ๑๐,๐๐๐ บาท ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตบางข้อ เช่น การออก พระราชบัญญัติกู้เงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๗ ภายใต้ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งในวันนี้ กระทรวงการคลังได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้น ยังไม่มีข้อสรุปใดๆรมช.คลัง กล่าวต่อว่า โดยขั้นตอนต่อไปจากนี้ จะมีการนัดหมายเพื่อประชุมคณะกรรมการนโยบาย คาดว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการ และจะมีการหารือในที่ประชุม ครม. วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗ นี้ เมื่อประชุมหาข้อสรุปในการดำเนินการต่อไป แล้วก็จะขอความกรุณาจากเลขากฤษฎีกาช่วยสรุปคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า มีข้อสังเกต และมีวิธีการดำเนินการต่อไปอย่างไร เมื่อนำเสนอแล้วจะมีมติเดินหน้าอย่างไร“กฤษฎีกามามีความเห็นว่าทำได้ แต่มีข้อสังเกตว่า จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น สถานการณ์วิกฤติ ไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ มาตรา ๕๗ ความคุ้มค่าของโครงการต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน จะต้องมาดูว่า จะทำกลไกอย่างไรเพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อนจากประชาชน หรือเสียงสะท้อนจากส่วนงาน” นายจุลพันธ์ กล่าว…นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ค่อนข้างเปราะบาง ประชาชนอยู่ในความเดือดร้อน ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องตรงกันว่า คงต้องดำเนินการกระตุ้นได้แล้ว แต่กลไกทั้งหมด เมื่อมีข้อสังเกตจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมถึงรัฐบาลในการที่จะหาคำตอบ และรายละเอียดที่ครบถ้วนเพื่อชี้ต่อสังคม และส่วนงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบทั้งหมดส่วนการเตรียมยกร่าง พระราชบัญญัติกู้เงินนั้น ยังไม่แล้วเสร็จ ๑๐๐% คาดว่า สามารถทำได้รวดเร็วภายใน ๑ สัปดาห์ ซึ่งรายละเอียดจะประกอบด้วย หลักการและเหตุผล เนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เอกสารประกอบ รายละเอียดโครงการทั้งหมด และรวมถึงรายละเอียดผลการชำระเงินคืนด้วย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ทำได้ แต่มีข้อสังเกต ๓ ประเด็นใหญ่ คือ ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของโครงการ และต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน