Sunday, 19 January 2025

พระราชบัญญัติงบฯยังห่างไกลชาวบ้าน

ทุกรัฐบาลมีความรับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณเพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ ๒๕๖๗ ที่พิจารณาในสภาฯวาระแรก บรรยากาศการอภิปรายเป็นไปแบบหน้าแดงแต่แรงไม่ออก ผลโหวตผ่านฉลุยเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการแล้ว ขณะที่วุฒิสภาก็จะตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาคู่ขนานไปด้วยวันนี้ผมขอนำมุมมองของ สว.อภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่สะท้อนภาพการจัดทำงบฯ ๖๗ มาเล่าสู่ฟังกัน สว.อภิชาติมองว่า ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ ๒๕๖๗ ยังห่างไกลจากชาวบ้าน ฟังอภิปรายไปก็งงไป จับต้องไม่ได้ เพราะไม่ได้บอกทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างชัดแจ้ง แค่พยายามหยิบทุกเรื่องใส่เข้าไป โยงยุทธศาสตร์ แผน เป้าหมายทุกเรื่องเข้ามาอยู่ในที่เดียว ไม่ได้ระบุผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ แก้ได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนเป็นการรวบงบฯในหมวดเดียวกันไว้มากกว่าจะระบุเป้าหมายเช่น แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่แก้ไขปัญหาความยากจนได้ตรงจุดที่สุด วงเงินรวม ๕.๖ หมื่นล้านบาท เฉพาะกรม ชลประทานหน่วยงานเดียวได้งบฯไปถึง ๓.๙ หมื่นล้านบาท คิดเป็น ๗๐.๗% แต่พอไปดูไส้ในพบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ไม่ค่อยมีแหล่งน้ำขนาดเล็กที่สามารถสร้างได้จำนวนมาก และกระจายน้ำไปถึงประชาชนโดยตรงขณะเดียวกันนโยบายสำคัญที่รัฐบาลกำหนดไว้เฉพาะ งบฯกลับถูกหารแบ่งเป็น เบี้ยหัวแตก นอกจากนี้ยังเป็นการจัดงบฯแบบ เพิ่มเสริมมากกว่าแบบ แผนงาน เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานราชการที่เอาฐานงบประมาณปีก่อนๆมาเป็นจุดเริ่มต้นแล้วบวกงบฯเพิ่มเสริมเข้าไปเท่านั้น ขาดความชัดเจนว่ารายจ่ายด้านต่างๆสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรสิ่งที่ สว.อภิชาติเป็นห่วงคือร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ ๒๕๖๘ ที่กำลังตามมาติดๆจ่อเข้าสภาฯ ยังมีประเด็นใหญ่ที่รอการแก้ไขจากรัฐบาล เริ่มจาก ๑.ปัญหางบประมาณ ขาดดุลเรื้อรัง เราทำงบประมาณขาดดุลมากกว่า ๒๐ ปีแล้ว ทำให้ ต้องกู้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นงบฯ ๖๗ ขาดดุล ๖๙๓,๐๐๐ ล้านบาท ติดลบ ๑๙.๙๑%๒.รายได้ที่เป็นจีดีพีจากแต่ละจังหวัด มีเมืองหลัก ๑๐ จังหวัด เช่น กทม. ชลบุรี ปทุมธานี รายได้รวมกันประมาณ ๖๔.๓% ของจีดีพีประเทศ เมืองรอง ๕๗ จังหวัด มีรายได้ ๓๔.๑% เมืองจิ๋ว ๑๐ จังหวัด เช่น นครนายก แม่ฮ่องสอน สร้างรายได้แค่ ๑.๖% ซึ่งจีดีพียิ่งสูงเท่าไหร่ก็จะตามมาด้วยเงินภาษีที่นำมาใช้จัดทำงบประมาณ ดังนั้นนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่จะเน้น สร้างรายได้ให้กับเมืองรอง ในปีนี้ถึง ๑๐ จังหวัด ถือเป็นแนวทางที่ถูก๓.หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือ การแก้หนี้ แต่มีเรื่องกังวลคือหนี้สาธารณะมีถึง ๑๑.๑๓ ล้านล้านบาท หรือ ๖๑.๗% ของจีดีพี ขณะที่หนี้ครัวเรือน ยอดเมื่อเดือน กันยายน๖๖ พุ่งไปถึง ๑๕.๙๖ ล้านล้านบาท หรือ ๙๐.๖% แล้ว๔.ภาพรวมการจัดสรรงบประมาณยัง เหลื่อมล้ำเหมือนอยู่กันคนละประเทศ การบริหารราชการแบ่งเป็นส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ส่วนกลาง ๒๐ กระทรวง ได้รับการจัดสรรงบประมาณถึง ๒.๔ ล้านล้านบาท คิดเป็น ๖๙.๒๐% ภายใต้ผู้รับผิดชอบบริหารงบฯเพียงไม่กี่คนคือปลัดกระทรวงและอธิบดี ขณะที่ส่วนภูมิภาคมีเพียงงบฯแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ ๗๖ คนดูแล ได้งบฯ ๒๓,๐๗๖ ล้านบาท คิดเป็น ๐.๖๖% ส่วนท้องถิ่นมีนายก อบจ.และนายก อบต.บริหารงาน ๗,๘๕๐ คน ในวงเงินที่มี ๘๑๐,๐๓๑ ล้านบาท คิดเป็น ๒๙.๐๖%สว.อภิชาติเชื่อว่าหากแก้ไขทั้ง ๔ ประเด็นนี้ได้ ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ ๒๕๖๘ ที่รอคิวเข้าสภาฯจะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรู้จัก เข้าใจ และเห็นภาพ สามารถติดตามและมีส่วนร่วมได้ ไม่ใช่มีเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการที่จัดทำงบประมาณฝ่ายเดียว.ลมกรดคลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม