หลังจากที่ทุกฝ่ายรอคอยมานานแรมเดือน ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีคำตอบที่ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่า รัฐบาลแจกได้แน่ เงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ ๑ หมื่นบาท ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะกฤษฎีกาบอกว่ารัฐบาลสามารถกู้เงิน ๕ แสนล้านบาทมาแจกได้แต่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นมาขัดคอว่ากฤษฎีกาไม่ได้ฟันธงชัดเจน รัฐบาลจะออก พระราชบัญญัติกู้เงิน ๕ แสนล้านบาทมาแจกได้หรือไม่ เพียงแต่เสนอแนะว่าอาจทำได้ แต่ต้องทำตามกฎหมายวินัยการเงิน การคลัง ต้องเป็นภาวะวิกฤติ ต้องคุ้มค่า ต้องหารือฝ่ายต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการชุดใหญ่โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ผู้ที่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไป ๕๖ ล้านคน คนละ ๑ หมื่นบาท เป็นนโยบายหาเสียงชิ้นเอกของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง ๒๕๖๖ พรรคเพื่อไทยโหมโฆษณาว่าจะต้องชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่ถึงจะแพ้เลือกตั้งเป็นอันดับ ๒ รองจากพรรคก้าวไกล แต่พรรคเพื่อไทยก็ได้เป็นแกนนำรัฐบาลนั่นก็คือทำตามสัญญาหาเสียงให้จงได้ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โหมโฆษณามาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ด้วยการโอดครวญว่าบ้านเมืองวิกฤติ เศรษฐกิจโตไม่ถึง ๒% ติดต่อกันมานับสิบปี รัฐบาลจึงต้องเร่งกระตุ้นโดยด่วน แต่ติดขัดปัญหาไม่มีงบประมาณ จะต้องออก พระราชบัญญัติกู้เงินมาแจก ก่อให้เกิดปัญหาอีรุงตุงนังทั้งปัญหาไม่มีงบประมาณแจก ปัญหากฎหมาย และปัญหาเศรษฐกิจวิกฤติจริงหรือไม่ ถ้าวิกฤติจริง ทำไมรัฐบาลจึงไม่ออก “พระราชกำหนด” แต่จะออกเป็น “พระราชบัญญัติ” แสดงว่าไม่วิกฤติ หรือเป็นกรณีจำเป็นรีบด่วนจริง ทำไมไม่แจกเล็กๆน้อยๆเหมือนพรรคอื่นๆ เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พท.อาจมองว่า “กระจอก”ไม่ดัง “ปังๆ” เหมือนกับการแจกเงินหมื่น แม้จะไม่มีงบแจก แต่เชื่อว่ารัฐบาลมีอำนาจ และมีเสียงข้างมากในสภา ที่จะออก พระราชบัญญัติกู้เงินได้ แต่ร่าง พระราชบัญญัติไม่ผ่านสภา รัฐบาลจะมีทางเลือก ๒ ทาง คือยุบสภาหรือลาออก เพราะเป็นร่างกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการเงิน หรืออาจถึงศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดร่าง พระราชบัญญัติกู้เงินแจกเป็นบทเรียนสำคัญของพรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประกาศในวันเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่า พรรคเพื่อไทยต้องมีศูนย์วิจัย มีข้อมูลที่ถูกต้อง สำหรับนโยบายทุกด้าน น่าจะพิสูจน์บทแรกด้วยนโยบายแจกเงินหมื่น ให้เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ชิ้นโบแดงของเพื่อไทย.คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม
Related posts