Sunday, 19 January 2025

ควรส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวพลูโตไหม?

นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์หลายคนมองว่าการที่มนุษย์จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์น้ำแข็งยูโรปาบริวารดาวพฤหัส ดาวศุกร์ หรือดวงจันทร์ไททันบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ ในอนาคตอันใกล้อาจเป็นไปได้ แม้ว่าดาวเหล่านั้นจะมีสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยและต้องใช้เวลาเดินทางยาวนาน โดยเฉพาะการไปให้ถึงไททันแต่ฝันไกลกว่านั้นได้หรือไม่ และจะเป็นอย่างไรถ้าส่งมนุษย์ออกไปไกลกว่าไททัน เช่นไปถึงดาวพลูโต เพื่อนบ้านอันแสนไกล ที่ถูกลดสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระ เนื่องจากดาวพลูโตไม่มีสภาพแวดล้อมที่รุนแรง เช่น ยูโรปา และดาวศุกร์ แต่อุปสรรคก็คือระยะทางอันไกลโพ้นและกว้างใหญ่มาก ดาวพลูโตมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ยราว ๕,๙๐๐ ล้านกิโลเมตรโคจรอยู่ในระบบสุริยะชั้นนอกภายในบริเวณที่เต็มไปด้วยวัตถุน้ำแข็งที่เรียกว่าแถบไคเปอร์ ด็อกเตอร์อลัน สเติร์น หัวหน้าทีมวิจัยในภารกิจนิวฮอไรซันส์ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ระบุว่า แม้ตนจะคิดว่าเราควรส่งมนุษย์ไปทุกที่ในระบบสุริยะ แต่คงเร็วเกินไปที่จะส่งมนุษย์ไปยังดินแดนส่วนใหญ่ในระบบสุริยะ รวมถึงดาวพลูโตด้วย เพราะเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้มากพอที่จะออกแบบภารกิจดังกล่าว และยังอยู่ไกลเกินความสามารถทางเทคนิคของมนุษย์อีกด้วย ไม่นับรวมว่าต้องใช้เงินทุนมากมายขนาดไหน อย่างไรก็ตามในอีก ๑๐๐ ปี ๒๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ปีต่อจากนี้ สถานการณ์อาจแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงทั้งนี้ ยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ทะยานขึ้นฟ้าในเดือน มกราคม๒๕๔๙ พุ่งออกจากโลกด้วยความเร็วอันน่าทึ่งที่ ๑๖.๒๖ กม./วินาที ทำให้ยานไปถึงดาวพฤหัสบดีภายในเวลาเพียง ๑ ปี แต่ยังต้องใช้เวลาอีก ๘ ปี ๕ เดือนกว่าจะไปถึงดาวพลูโต โดยบินผ่านพลูโตเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม๒๕๕๘ และเข้าใกล้พื้นผิวดาวในระยะ ๑๒,๔๗๒ กิโลเมตร.Credit : NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Southwest Research Instituteอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่