ธันวาคมปีที่แล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของไทยมีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ขั้นตอนถัดมาคือการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ เมื่อกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่การพิจารณารายมาตราในวาระ ๒ และสภาผู้แทนฯ ลงมติเห็นชอบในวาระ ๓ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในขั้นวุฒิสภา ๓ วาระต่อไปสมรสเท่าเทียมหมายถึงการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิง แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดสิทธิในการหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นผู้จัดการแทนทางอาญาเช่นเดียวกับคู่สมรส การรับมรดกเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต การรับบุตรบุญธรรม การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ฯลฯคำที่ใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศคือ LGBTQI ที่ย่อมาจาก Lesbian ผู้หญิงรักผู้หญิง, Gay ผู้ชายรักผู้ชาย, Bisexual คนที่รักทั้งสองเพศ (รักได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย), Transgender คนข้ามเพศ (คนที่พึงพอใจกับเพศสภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตน), Queer คนที่มีความภูมิใจในอัตลักษณ์ที่แตกต่าง และ Intersex คนที่เกิดมาพร้อมกับสรีระทางเพศหรืออวัยวะสืบพันธุ์ที่กำกวมหรืออาจมีลักษณะไม่ตรงกับเพศชายหรือหญิงหรือมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศไทยเป็นชาติรัฐที่เปิดกว้างเรื่อง LGBTQ+ แต่หลายประเทศ ทั้งคณะผู้นำและประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ผู้นำประเทศที่กำลังโดนวิจารณ์อย่างมากในตอนนี้คือนายเอวาริสต์ เอ็นดายิชิมิเย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐบุรุนดี ที่ก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา แกออกมาเรียกร้องให้คนบุรุนดีลงโทษคนที่เป็นเกย์ด้วยการปาหิน นายเอ็นดายิชิมิเยพูดกับสื่อมวลชนว่า “ถ้าพวกคุณอยากดึงดูดคำสาปแช่งมาสู่ประเทศของเรา ก็จงยอมรับการมีรสนิยมรักเพศเดียวกัน ถ้าพบคนเหล่านี้ในบุรุนดีให้ลากตัวไปที่สนามกีฬา แล้วช่วยกันปาก้อนหินใส่”ผู้อ่านที่เป็น LGBTQ+ จะเดินทางไปต่างประเทศโปรดตรวจสอบในเรื่องกฎหมายของประเทศนั้นๆ ด้วยครับ เมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว รัฐบาลอูกันดาออกกฎหมายลงโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ทำความผิดฐานรักเพศเดียวกัน นักการเมืองในหลายประเทศ เช่น เคนยา ซูดานใต้ และแทนซาเนีย ออกมากระดิกพลิกตัวให้ประเทศของตนมีกฎหมายลงโทษ LGBTQ+ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องอธิปไตยและค่านิยมดั้งเดิมของแอฟริกันจากอิทธิพลของชาติตะวันตกที่กดดันให้สังคมแอฟริกันต้องเปิดกว้างในเรื่องการยอมรับ LGBTQ+๙ มกราคม ๒๐๒๔ นายมาครง (อายุ ๔๖ ปี) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แต่งตั้งนายกาเบรียล อัตตาล (๓๔ ปี) เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนางเอลีซาแบ็ต บอร์น (๖๒ ปี) ที่น่าสนใจไม่ใช่เรื่องการมีอายุและประสบการณ์น้อย แต่เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฝรั่งเศสประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ผู้นำประเทศที่ประกาศตนเป็น LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด นายซาเวียร์ เบตเทล นายกรัฐมนตรีของลักเซมเบิร์กที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ๒ สมัยก็ประกาศตนว่าเป็นเกย์ ลักเซมเบิร์กจึงไม่มีสุภาพสตรีหมายเลข ๑ มีแต่สุภาพบุรุษหมายเลข ๑ คือนายโกธิเยร์ เดสเตเนย์ หรืออย่างนางอานา เบอร์นาบิช นายกรัฐมนตรีเซอร์เบียก็ประกาศต่อสาธารณะว่าตนเองเป็นเลสเบียนและใช้ชีวิตร่วมกับแพทย์หญิงมิลิกา เดอร์ยิช หรืออย่างนายแกรนท์ โรเบิร์ตสัน รองนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์สมัยนางจาซินดา อาร์เดิร์น ก็ประกาศว่าตนเองเป็นเกย์ ครองคู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายกับนักรักบี้ชายLGBTQ+ ทำให้โลกแยกทัศนคติเป็น ๒ ขั้ว ขั้วที่ยอมรับอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ถึงขนาดมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม กับขั้วที่ต่อต้านอย่างรุนแรงถึงขนาดออกกฎหมายประหารชีวิต หรือปาหินซึ่งเป็นการลงโทษแบบยุคโบราณมาใช้.นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัยsonglok๑๙๙๗@gmail.comคลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม
ผู้นำโลกประกาศตัวเป็น LGBTQ+ มากขึ้น
Related posts