Thursday, 19 December 2024

ฝากกรรมาธิการงบประมาณ ช่วยดูแล “แผนพัฒนา ๑๓”

ในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก่อนเสนอร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น ๓.๔๘ ล้านล้านบาท ให้สภาผู้แทนพิจารณาในวาระที่ ๑ นั้นท่านได้อารัมภบทว่า ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและฐานะการคลังของประเทศตลอดจนแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๓ และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ และ ฯลฯผมฟังแล้วก็ใจชื้นที่ท่านได้กล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๓ เอาไว้ด้วยตามประสากองเชียร์แผนพัฒนาและเห็นความสำคัญของแผนพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ตั้งแต่หนุ่มจนเข้าวัยกลางคน และกลายเป็นผู้สูงอายุไปแล้วในขณะนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๓ นั้น ได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๖ เป็นต้นมา และจะไปสิ้นสุดในปี ๒๕๗๐เท่ากับว่าได้ใช้แผนไปแล้ว ๑ ปี ปีนี้จะเป็นปีที่ ๒ ผมก็หวังว่าคงจะมีการจัดงบประมาณลงไปสนับสนุน “หมุดหมาย” ๑๓ ประการที่ประกาศไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่ ๑๓ ตามสมควรนะครับปีที่แล้วผมไม่ค่อยห่วงเท่าไร เพราะจัดทำโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็น “รัฐบาลของพรรคราชการ” กุมเสียงส่วนใหญ่…การจัดงบประมาณเพื่อแผนโน่นนี่ที่ฝ่ายข้าราชการจัดทำไว้จึงไม่ค่อยมีปัญหามาปีนี้แรกๆก็หนักใจ แต่ปรากฏว่ากลายเป็นรัฐบาลเก่าอีกนั่นแหละที่ทำไว้ รัฐบาลใหม่เข้ามา แม้จะมีเวลา ๓ เดือน แต่ก็แก้อะไรยากจนโดนวิจารณ์ว่า งบประมาณไม่ตรงปกไปจากฝ่ายค้านหลายๆท่านแต่สำหรับผม ซึ่งลำเอียงมาทางฝ่ายราชการอย่างที่เรียนไว้แล้วตอนต้น ยิ่งไม่ตรงปกทางการเมืองเท่าไร ก็น่าจะตรงกับแผนพัฒนาต่างๆ ที่ฝ่ายราชการอยากทำมากเท่านั้น ซึ่งก็มีการศึกษาวิเคราะห์ วิจัยแล้วอย่างดียิ่ง ก่อนจะกำหนดออกมาเป็นแผนโดยเฉพาะแผนพัฒนาฉบับที่ ๑๓ ที่มีหมุดหมาย ๑๓ ประการ ล้วนแต่สำคัญทั้งสิ้น คงจะมีเงินงบประมาณไปสนับสนุนให้ทำตามแผน ไม่มากก็น้อย เพื่อให้บรรลุเป้าในหมุดหมายต่างๆผมขออนุญาตคัดลอกทั้งหมดมาลงอีกครั้ง…ไม่ต้องลงรายละเอียดเห็นแต่ชื่อหัวข้อก็ควรแก่การสนับสนุนแล้วครับ…ดังนี้หมุดหมายที่ ๑ ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงหมุดหมายที่ ๒ ไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืนหมุดหมายที่ ๓ ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกหมุดหมายที่ ๔ ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูงหมุดหมายที่ ๕ ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาคหมุดหมายที่ ๖ ไทยเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่สำคัญของโลกหมุดหมายที่ ๗ ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็งมีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้หมุดหมายที่ ๘ ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ปลอดภัยเติบโตได้อย่างยั่งยืนหมุดหมายที่ ๙ ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสมหมุดหมายที่ ๑๐ ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำหมุดหมายที่ ๑๑ ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหมุดหมายที่ ๑๒ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูงมุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและ หมุดหมายที่ ๑๓ สุดท้ายไทยมีภาครัฐที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนเห็นหรือยังล่ะว่าแต่ละหมุดหมายถ้าเราสามารถทำได้แม้สักครึ่งหนึ่งผมก็ว่าประเทศไทยของเราจะไปไกลกว่านี้ได้อย่างแน่นอน…จึงต้องขอฝากให้มีงบประมาณสนับสนุนตามสมควร เพื่อให้สามารถเคลื่อนขบวนได้อย่างต่อเนื่องและขอเอาใจช่วยทุกๆหมุดหมายไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งครับ.“ซูม”คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม