อบต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม แถลงข่าวการจัดงานของดีประจำตำบล “ใส่อีหิ้ว กินข้าวล่อ เที่ยวเขื่อนพ่อ คิดถึงเอ๊อะ” ครั้งที่ ๑ ยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่นส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชน ณ บริเวณริมเขื่อน จุดชมวิวพนังกั้นน้ำรถไฟลอยน้ำ ณ ศูนย์วัฒนธรรมไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง ได้จัดแถลงข่าวการจัดงานของดีประจำตำบลโคกสลุง ครั้งที่ ๑ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ มกราคม ๒๕๖๗ บริเวณริมเขื่อนจุดชมวิวพนังกั้นน้ำรถไฟลอยน้ำtt tttt ttนายรัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอพัฒนานิคม กล่าวถึงการท่องเที่ยวของอำเภอพัฒนานิคมว่า พัฒนานิคม เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดลพบุรี จัดตั้งขึ้นโดยโอนพื้นที่ของ ๔ อำเภอ คือ อำเภอโคกสำโรง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และอำเภอแก่งคอย อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มาจัดตั้ง และเป็นอำเภอที่ตั้งของเขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นพื้นที่จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมของ จังหวัดลพบุรี แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น ๙ ตำบล และ ๑๑ อปท. ตามคำขวัญ: เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์งามตระการ สูงตระหง่านเขาพระยาเดินธง ดงน้ำผึ้งโคนมไก่เนื้อ งามมากเหลือทุ่งทานตะวัน พิพิธภัณฑ์บ้านโป่งมะนาวtt tttt ttสำหรับตำบลโคกสลุงนี้ ถือว่าเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และทุ่งทานตะวัน รวมทั้งยังมีวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมชาวบ้านในอดีตคือชุมชนไทยเบิ้งที่อพยพมาจากโคราช และที่สำคัญยังมีช่วงเทศกาล น้ำเต็มอ่างเก็บน้ำ เกือบถึงรางกว่า ๒ กิโลเมตร ทำให้เห็นรถไฟวิ่งบนน้ำกลางอ่าง เป็นที่มาของคำว่ารถไฟลอยน้ำ และในขณะนี้ยังค้นพบแหล่งหินตัดเสาดิน และแพะเมืองหลุง ที่เป็นอันซีนน่าทึ่งใหม่ทั้ง ๒ แห่ง อีกด้วยtt tttt ttด้าน อาจารย์สุรชัย เสือสูงเนิน ปราชญ์ชาวบ้านโคกสลุง กล่าวถึงวิถีชีวิตของคนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงว่าเป็นกลุ่มชนอีกท้องถิ่นหนึ่ง ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และยังตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆ เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาไทยภาคกลางเพี้ยน เหน่อ น้ำเสียงห้วนสั่น ภาษาที่นิยมพูดจะลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “เบิ้ง” วัฒนธรรมคล้ายกลุ่มชนไทยภาคกลาง แต่ยังมีลักษณะบางอย่างที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน เช่นภาษา ความเชื่อ เพลงพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพ การทอผ้ารวมทั้งการละเล่นต่างๆ ความคิด ความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจนตลอดเป็นประเพณี จึงเป็นรากฐานส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตของคนในสังคม และปรากฏในทุกขั้นตอนของการดำรงชีวิต โบราณได้กำหนดขั้นตอนที่สำคัญของชีวิต มี ๔ ครั้ง คือ ตอนเกิด บวช แต่งงาน และตอนตาย จึงนิยมจัดทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลtt tttt ttขณะที่ นายรัชพล เอื้อสลุง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นการส่งเสริมชุมชนที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นไทยเบิ้งของคนโคกสลุง สร้างการมีส่วนร่วม โดยยังคงยึดของดีประเพณี ผลิตภัณฑ์ การละเล่น อาหาร เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักท้องถิ่นเก่าดั้งเดิมก่อนจะมาเป็นตำบลโคกสลุงในปัจจุบัน และยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนชาวบ้านทั้ง ๑๑ หมู่บ้านในเขตตำบลโคกสลุง โดยกิจกรรมประกอบด้วย การแสดง Light & sound แสงสีเสียง ประกอบการแสดงย้อนรอยประวัติศาสตร์ อารยธรรมลุ่มน้ำป่าสักความเจริญรุ่งเรืองของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากนักแสดงชาวบ้านโคกสลุงร่วมกับวิทยาลัยนาฏศิลป์ กว่า ๔๐ ชีวิตtt ttนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง กล่าวด้วยว่า อีกทั้ง ยังมีการแสดงเดินแบบผ้าทอไทยเบิ้ง การแสดงวาดภาพจิตรกรรม วิถีชีวิตชุมชนไทยเบิ้ง อาหารพื้นบ้านสู่ภัตตาคารชุมชน เลือกชิม ช็อป อาหารพื้นบ้าน และซื้อผลิตภัณฑ์ของฝากในชุมชน จากร้านค้าชุมชนกว่า ๕๐ ร้านค้า และชิลๆ กับบรรยากาศการแสดงสดดนตรีทุกคืน และถ่ายภาพสวยๆ จุดเช็กอิน สะพานรถไฟลอยน้ำประดับตกแต่งแสงไฟในยามค่ำคืน นอกจากนี้ ภายในรณรงค์ให้ใส่ชุดแบบไทยเบิ้ง ผู้หญิงใส่เสื้ออีหิ้ว และนุ่งโจงกระเบน มีผ้าทอมือสไบไหล่ซ้าย.
อบต.โคกสลุง จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวริมเขื่อน จุดชมวิวพนังกั้นน้ำรถไฟลอยน้ำ
Related posts