Sunday, 19 January 2025

ดัชนี “ความเชื่อมั่นครูไทย” จุดเด่น “มนุษยสัมพันธ์ดี” จุดด้อย “หนี้สิน”

สวนดุสิตโพล ชี้ ดัชนี “ความเชื่อมั่นครูไทย” ได้ ๗.๙๐ เพิ่มจาก ปี ๖๕ ตัวชี้วัดคะแนนสูงสุด “มนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้” ตัวชี้วัดต่ำสุด ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้สินวันที่ ๑๕ ม.ค. ๒๕๖๗ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดทำดัชนี “ความเชื่อมั่นครูไทย” เป็นประจำทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ ๑๙ สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน ๓,๖๗๖ คน ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ พบว่าประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ปี ๒๕๖๖ เต็ม ๑๐ ได้ ๗.๙๐ คะแนน (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี ๖๕ ได้ ๗.๕๒ คะแนน)โดยตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ มนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ เฉลี่ย ๘.๒๐ คะแนน รองลงมา คือ บุคลิกภาพดี แต่งกายเหมาะสมกับอาชีพ เฉลี่ย ๘.๑๙ คะแนน ส่วนตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้สิน เฉลี่ย ๖.๗๘ คะแนน (ได้คะแนนต่ำสุด ๔ ปีติดต่อกัน)จุดเด่นของครูไทยในปี ๒๕๖๖ คือ ใช้เทคโนโลยีในการสอน ร้อยละ ๕๘.๒๙ จุดด้อยของครูไทย คือ มีปัญหาหนี้สิน ร้อยละ ๖๖.๕๖ จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” กลุ่มตัวอย่างมองว่ามีความสำคัญต่อครูและนักเรียนในแง่ของการทำให้บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน ร้อยละ ๖๙.๖๑ ทั้งนี้ ตลอดปี ๒๕๖๖ ครูเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในด้านการทำงาน โดยสามารถทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น ร้อยละ ๖๔.๒๒จากผลสำรวจดัชนีครูไทย ปี ๒๕๖๖ จะเห็นได้ว่าครูไทยมีความโดดเด่นด้านมนุษยสัมพันธ์และบุคลิกภาพ ส่วนด้านที่ได้คะแนนไม่มากนัก คือ ปัญหาหนี้สิน การควบคุมอารมณ์ การคิดตัดสินใจ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายลดภาระครู แก้ปัญหาหนี้สิน ปรับการประเมินให้ครูมีเวลาพัฒนาตนเองและห้องเรียนมากขึ้น เพื่อให้เกิด “เรียนดี มีความสุข” แต่สุดท้ายแล้วจะเป็นไปตามนโยบายที่ให้ไว้หรือไม่ ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับครูไทยในปี ๒๕๖๗ดัชนี “ความเชื่อมั่นครูไทย” เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนหรือผู้ปกครองมีโอกาสเข้าถึงการจัดการเรียนการสอนของครูผ่านห้องเรียนออนไลน์พร้อมกับนักเรียน จึงได้สัมผัสถึงความเมตตาและความโอบอ้อมอารีของครูที่มีต่อศิษย์ รวมถึงความอดทนและทุ่มเทในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ตลอดจนความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ที่ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์จากมุมมองดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหน้าที่หลักของครู คือ การสร้างองค์ความรู้และหล่อหลอมให้นักเรียนเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ผ่านการจัดประสบการณ์อันเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน แต่สถานการณ์การปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบัน ครูมีภาระงานอื่นนอกเหนือจากการพัฒนาการเรียนการสอนและการพัฒนาตนเองมากเกินไป กอปรกับการมีงบประมาณสนับสุนนที่ไม่เพียงพอ จนทำให้ครูเกิดภาวะเครียดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ฐานะ จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ “ครู” เป็นหัวใจของระบบการศึกษา