Thursday, 19 December 2024

วิสาหกิจชุมชนฯบางท่าข้าม ต้นแบบกลุ่มปลูกผักปลอดภัย

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสานแบบยั่งยืนบางท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่รวมกลุ่มผลิตผักปลอดภัย ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP มีการบริหารจัดการเน้นการตลาดนำการผลิต มุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภคได้รับรางวัลชนะเลิศกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด ปี ๒๕๖๔ และรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด ปี ๒๕๖๖ ผลิตภัณฑ์สุขภาพดีเด่น ประเภทส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ผลิตภัณฑ์ถั่วฝักยาว จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)tt ttเป็นวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๕๘ โดยมี นายสิทธิพล โตประศรี เป็นประธานวิสาหกิจ จากนั้นในปี ๒๕๖๐ ได้จัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม มี นายสมพนธ์ ไทยบุญรอด เป็นประธานแปลงใหญ่ และได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี ๒๕๖๔ ได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโน โลยีในการผลิต อาทิ รถไถ สำหรับใช้ในการเตรียมแปลง และโรงเรือนปลูกผัก สามารถปลูกผักที่ไม่ทนต่อสภาพอากาศของภาคใต้ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกเกษตรกร ๕๘ ราย พื้นที่เพาะปลูกรวม ๖๔๓ ไร่ ผลิตผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP รวมทั้งสิ้น ๑๙ ชนิด โดยปลูกเฉลี่ย ๙ ชนิด/ ครัวเรือน ได้แก่ ผักบุ้งจีน, คะน้า, กวางตุ้ง, กวางตุ้งไต้หวัน, มะระจีน, ผักกาดหอม, ผักชีไทย, บวบเหลี่ยม, พริกขี้หนูยอดสน, ฟักทอง, มะนาว, ถั่วฝักยาว, ผักชีฝรั่ง, แตงกวา, แตงร้าน, ตะไคร้, โหระพา, ฟักเขียว และคะน้ายอดโดยสมาชิกมีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการผลิตพืชผักให้ปลอดภัยในทุกขั้นตอน ภายใต้มาตรฐาน GAP และที่คู่ค้ากำหนด สามารถยึดการปลูกผักเป็นอาชีพหลักที่สร้างความยั่งยืนและมีรายได้ครัวเรือนที่มั่นคง มีมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ ความสะอาด และความปลอดภัยแบบเดียวกับที่จำหน่ายให้ตลาด Modern Tradeนอกจากนี้ เกษตรกรสมาชิกยังมีการประยุกต์ใช้ระบบรดน้ำอัตโนมัติ ควบคุมด้วยระบบ IoT ช่วยให้ลดต้นทุนเรื่องแรงงานและเวลาในการบริหารจัดการน้ำ ช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตต่อไร่tt tttt ttมีการผลิตสารชีวภัณฑ์โดยใช้ตู้เขี่ยเชื้อ ช่วยให้กลุ่มสามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพไว้จำหน่ายให้กับสมาชิก และช่วยให้สมาชิกลดการใช้สารเคมีในแปลงปลูกได้นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๘ สุราษฎร์ธานี (สศท.๘) เผยต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนของผักที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด ๓ อันดับแรกถั่วฝักยาว ใน ๑ ปี ปลูกได้ ๒ รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ๔๓,๒๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต ๔,๐๐๐ กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย ๑๐๘,๐๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) ๖๔,๘๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิตtt ttพริกขี้หนูยอดสน ใน ๑ ปี ปลูกได้ ๑ รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ๒๑,๐๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต ๑,๕๐๐ กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย ๕๒,๕๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้กำไร ๓๑,๕๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิตกวางตุ้ง ใน ๑ ปี ปลูกได้ ๕ รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ๓,๖๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต ๑,๐๐๐ กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย ๑๒,๐๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้กำไร ๘,๔๐๐ บาท/ไร่/รอบการผลิตสำหรับสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๐ จำหน่ายให้พ่อค้าในพื้นที่ ผลผลิตอีกร้อยละ ๓๐ ส่งจำหน่ายห้างโลตัส แม็คโคร และบริษัท คิงส์ วิช จำกัดtt tt“เคล็ดลับสำคัญในการบริหารจัดการนั่นคือ ทางกลุ่มมีการวางแผนการผลิตร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด เพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตมีมากเกินความต้องการอันจะนำไปสู่ปัญหาราคาผลผลิตของสมาชิกตกต่ำ มีการผลิตพืชผักภายใต้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของคู่ค้าทางธุรกิจอย่างเคร่งครัด สมาชิกปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP อย่างต่อเนื่อง ทำให้คู่ค้าภาคเอกชนอื่นๆ และตลาดในท้องถิ่นได้รับพืชผักที่มีมาตรฐานเดียวกันกับที่จำหน่ายในห้างโลตัส ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยมากขึ้น”ในอนาคตทางกลุ่มจะพัฒนากระบวนการผลิตพืชผัก รักษาพื้นที่ปลูกผักให้เกิดความยั่งยืน รองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น เตรียมที่จะขยายโรงคัดบรรจุผักสด พร้อมระบบห้องเย็นมาตรฐาน GMP เพิ่มกำลังการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้า พร้อมทั้งขยายผลการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร มาช่วยยกระดับการผลิตมากขึ้น เช่น ระบบให้น้ำอัตโนมัติ และโรงเรือนปลูกผักอัตโนมัติ สนใจข้อมูลการผลิตและผลการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสานแบบยั่งยืนฯ สอบถามได้ที่โทร. ๐๘-๓๖๓๗-๐๙๓๘ และ ๐๘-๓๙๑๔-๕๐๖๔.ชาติชาย ศิริพัฒน์คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม