ปลัด มท. เป็นประธานพิธีลงนาม MOU พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจังหวัดเชียงใหม่ เน้นย้ำ สุขภาพท้องถิ่นในทศวรรษหน้า ประชาชนทุกคนต้องมีสุขภาพดีควบคู่กับการมีระบบการรักษาที่มีคุณภาพวันที่ ๑๗ ม.ค. ๒๕๖๗ ที่หอประชุม ๘๐ พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจังหวัดเชียงใหม่ โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ ทิศทางนโยบายการจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและความท้าทายของระบบสุขภาพท้องถิ่นในทศวรรษหน้า โดยกล่าวว่า ในห้วงที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสเดินทางมาเป็น Partnership ร่วมกับพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ในการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนระบบดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนถึง ๓ วาระ คือ โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม เมื่อปี ๒๕๖๕ การฝึกอบรมแกนนำสุขภาพประชาชนแบบมีส่วนร่วมของ รพ.สต. ในสังกัด อบจ.เชียงใหม่ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อปี ๒๕๖๖ และในวันนี้ ปี ๒๕๖๗ คือ การลงนามความร่วมมือการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจังหวัดเชียงใหม่ โดยหากนับเมื่อครั้ง นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางไปประชุมหารือการถ่ายโอน รพ.สต. ที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับตนและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง จะนับเป็นครั้งที่ ๔ ที่ได้มีส่วนร่วมกับพี่น้องชาวเชียงใหม่ อันสะท้อนให้เห็นว่าตนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ เป็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับสังคมไทย” ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังรวมถึงเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด และการนำเอาบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนร่วมกับ ๗ ภาคีเครือข่าย ในการทำให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในทุกชุมชน/หมู่บ้านทั่วประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน “เพราะคำตอบของการพัฒนาอยู่ที่หมู่บ้าน”ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คือคำตอบของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน และสิ่งสำคัญของการดูแลสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนนั้น “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ดังนั้น ถ้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นข้าราชการในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีในทุกเรื่อง “ระบบสุขภาพท้องถิ่นของทศวรรษหน้า คือ ประชาชนทุกคนในท้องถิ่นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ โดยน้อมนำพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มุ่งบูรณาการงานและสรรพกำลัง อันจะส่งผลทำให้ประเทศชาติจะมั่นคง ประชาชนจะมีความสุขอย่างยั่งยืนได้ โดยไม่ทิ้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะส่งผลทำให้การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ไม่เป็นเพียงแค่พิธีกรรม แต่จะหนุนเสริมส่งผลดีทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้ายด้าน นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นตามกลไกและกระบวนการที่พึงประสงค์ รวมทั้งระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่นระดับจังหวัด อันจะส่งผลทำให้บรรลุเป้าหมายการสนับสนุนบทบาทหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับมอบหมายถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน ๖๙ แห่ง ให้สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบำบัดโรค การส่งเสริมสุขภาพพลานามัยของประชาชน การรักษาพยาบาลอย่างง่าย การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตและมีสุขภาพที่ดีสืบไป