Thursday, 19 December 2024

คณะแพทย์ชี้ไม่พบผลกระทบวัคซีนรุนแรง

18 Jan 2024
112

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ม.ค. กรมควบคุมโรคได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีนักวิชาการได้ออกมาเผยแพร่ผลกระทบของวัคซีนโควิด-๑๙ กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคตรวจสอบและหารือร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) เพื่อทบทวนข้อมูลวิชาการ และคำแนะนำล่าสุดขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-๑๙ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิดแล้วมากกว่า ๑๓,๐๐๐ ล้านโดส ข้อมูลวิชาการยืนยันว่า วัคซีนสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ซึ่งวัคซีนโควิดทุกชนิดที่ใช้ในประเทศไทยจะต้องผ่านกระบวนการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากองค์การอนามัยโลก และขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการตรวจรับรองรุ่นการผลิต เพื่อความปลอดภัยสูงสุดก่อนนำไปให้บริการประชาชน ทั้งมีระบบติดตามและระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน โดยระหว่างวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๔-๓๑ ธันวาคม๒๕๖๖ มีรายงานอุบัติการณ์ ไม่พึงประสงค์กรณีร้ายแรง ๕.๐๙ คนต่อแสนโดส และเมื่อพิจารณารายที่เสียชีวิต ๑,๗๙๗ คน พบว่าส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด มีเพียง ๕ คนที่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ได้แก่ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ๒ คน อาการแพ้รุนแรง ๒ คน และ Stevens-Johnson Syndrome ๑ คน ซึ่งคิดเป็นอุบัติการณ์เสียชีวิตที่ต่ำกว่าหนึ่งในล้านโดสนอกจากนี้ สธ.ยังติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในระยะยาวตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด และการฉีดวัคซีนโควิดยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะลองโควิด ภายหลังจากการติดเชื้อ โดยการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ พบว่าวัคซีนโควิด-๑๙ สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดลองโควิดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้ ๔๐-๘๐% เทียบกับการไม่ได้รับวัคซีน.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่