ผมเพิ่งได้ดูวีดิทัศน์ที่ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม และสืบสานแนวพระราชดำริ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา แชร์มาให้ เนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ตั้งโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทยที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้พระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้เลยขอนำข้อมูลมาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นที่มณฑลกรุงเก่า (จ.พระนครศรีอยุธยา) มีประชาชนถวายฎีการ้องเรียนเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินกันเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงเล็งเห็นความยากลำบากของประชาชนที่เกิดจากการขาดแคลนที่ดินทำกิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ จัดทำทะเบียนที่ดินให้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระยาประชาชีพบริบาล ออกไปเดินสำรวจรังวัดปักเขต เพื่อออกโฉนดที่ดินฉบับแรก เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน๒๔๔๔tt ttโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทยเป็น โฉนดเลขที่ ๑ หน้าที่ ๑ เลขที่ดิน ๑๑๗ ระวาง ๑๗ ต ๓ อ ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง แขวงเมืองกรุงเก่า เมืองกรุงเก่า (ต่อมาอำเภอพระราชวัง แขวงเมืองกรุงเก่า เปลี่ยนสถานะเป็นอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) มีเนื้อที่ ๙๑ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา ซึ่งมีพระนาม “สมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์” ทรงถือกรรมสิทธิ์ต่อมาปี ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวน ๔๔,๓๒๑–๐–๓๙.๔๖ ไร่ ในท้องที่ ๕ จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครปฐม นครนายก และปทุมธานี ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำไปจัดสรรให้กับเกษตรกรในรูปแบบ ส.ป.ก.๔–๐๑ ไว้ประกอบอาชีพเพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมไว้ให้กับลูกหลาน ปรากฏว่าที่ดินที่ได้พระราชทานให้แก่ ส.ป.ก.ดังกล่าว มีที่ดินโฉนดฉบับแรกของประเทศรวมอยู่ด้วยtt ttเมื่อไม่นานมานี้ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม และสืบสานแนวพระราชดำริ ได้ประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าไปพัฒนาพื้นที่ตั้งโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย ให้เป็น แหล่งเรียนรู้พระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ แบ่งเป็น ๓ ด้าน ดังนี้๑.ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ในพื้นที่ตั้งโฉนดที่ดินฉบับแรก อาทิ จัดทำซุ้มและป้ายแสดงความเป็นมาของโฉนดที่ดินฉบับแรก การบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค ที่ตั้งของจังหวัด และข้อมูลต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัด ๗๖ จังหวัด รวมทั้งปลูกต้นไม้ประจำจังหวัด ๗๖ ต้น๒.ปรับปรุงอนุสาวรีย์โฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย ที่จัดสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงสละสิทธิ์ในที่ดินของพระองค์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชน สร้างจากหินอ่อนสูงประมาณ ๔.๕ เมตร กว้างประมาณ ๔ เมตร ด้านหน้าอนุสาวรีย์ติดภาพถ่ายสำเนาโฉนดที่ดินฉบับแรก ทำด้วยผ้าไวนิล ซึ่งเริ่มชำรุดทรุดโทรม และภาพถ่ายมีสภาพไม่ชัดเจนแล้ว จึงเปลี่ยนจาก ผ้าไวนิล มาเป็น การแกะสลักโฉนดที่ดินลงบนหินอ่อนสีชมพู ขนาด ๒.๙๕ ×๒.๑๐ เมตร พร้อมจัดทำ กรอบกระจกกัดทรายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดับหน้าโฉนดที่ดินดังกล่าว๓.พัฒนาส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ตั้งโฉนดที่ดินฉบับแรก ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการทำนา เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยtt tttt ttคณะกรรมาธิการฯคาดหวังว่า แหล่งเรียนรู้พระมหากรุณาธิคุณ ศูนย์วิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัย และอุทยานต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัด จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเกษตรกรผมอยากเสนอให้ทางจังหวัดและ ส.ป.ก.ช่วยกันประสานไปยังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว และหากผลักดันให้เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของอยุธยาได้ก็จะยิ่งเกิดประโยชน์สูงสุด.tt ttลมกรดคลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม