Sunday, 19 January 2025

ในหลวงทรงห่วง ครอบครัว ๒๓ ศพ องคมนตรีมอบเงินสงเคราะห์ฯ พิสูจน์ได้แล้ว ๑๔ พิธีเชิญวิญญาณ

20 Jan 2024
117

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีอัญเชิญเงินสงเคราะห์และถุงพระราชทานช่วยเหลือทายาทผู้เสียชีวิต เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนผลตรวจอัตลักษณ์ส่งร่างคืนญาติเพิ่มอีก ๖ ศพ จากเดิม ๘ ศพ รวม ๑๔ ศพ ญาตินิมนต์พระทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณ สามีเจ้าของโรงงานนำ พฐ.ชี้จุดเกิดเหตุ เพื่อรวบรวมหลักฐาน ปภ.ประกาศเขตภัยพิบัติห้ามเข้า ในรัศมี ๔ กม. “วราวุธ” จัดทีมเยียวยาครอบครัวเหยื่อพลุ พ่อแม่ตายเหลือแต่ลูกเล็กเป็นพิเศษ ขณะที่ “สมศักดิ์” ถกแก้ประกาศคุมโรงพลุกระแสสังคมยังให้ความสนใจกับเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุบึมสนั่นในพื้นที่หมู่ ๓ ต.ศาลาขาว อ.เมืองสุพรรณบุรี ตั้งอยู่กลางทุ่งนา อานุภาพแรงอัด มหาศาลทำให้ตัวอาคารและข้าวของเครื่องใช้กระเด็นไปไกลกว่า ๑๐๐ เมตร กลายเป็นเหตุสะเทือนใจเมื่อลูกชาย-เมียเจ้าของโรงงาน และคนงานร่างฉีกขาดตายเกลื่อนรวม ๒๓ ศพ ทีมแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ เร่งตรวจอัตลักษณ์บุคคล ล่าสุดส่งศพให้ญาติไปสวดบำเพ็ญกุศลแล้ว ๘ ศพ ยังคงเหลือ ๑๕ ศพขณะที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวเหยื่อรายละ ๓ แสนบาท พร้อมจ่อแก้กฎหมายป้องกันเหตุซ้ำซ้อนทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรีร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรม ราชูปถัมภ์ อัญเชิญเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากสาธารณภัยและถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคมามอบให้กับทายาทผู้เสียชีวิตจำนวน ๒๓ ชุด พร้อมมอบเงินรายละ ๑๐,๐๐๐ บาท ที่วัดโรงช้าง อ.เมืองสุพรรณบุรี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ญาติของครอบครัวผู้สูญเสียต่างปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นส่วนความคืบหน้าเมื่อช่วงเช้าวันที่ ๑๙ ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่เกิดเหตุโรงงานพลุระเบิด หลังจากเจ้าหน้าที่เก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตทั้ง ๒๓ ราย เพื่อเร่งพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังปิดกั้นพื้นที่ห้ามเข้าจุดเกิดเหตุเด็ดขาด เพราะยังมีเศษเหล็ก โครงหลังคาของโรงงานพลุกระจัด กระจายเต็มพื้นที่เป็นวงกว้างกว่า ๑๐๐ เมตร ขณะที่ญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตรอทำพิธีเชิญดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตกลับบ้านตามความเชื่อต่อมาเวลา ๑๐.๐๐ น. นายสุริยา วัชระพิมลมิตร เจ้าของโรงงานพลุ ลูกสาวและญาติเดินทางมาที่เกิดเหตุเพื่อมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน จากนั้นเดินเข้าไปในที่เกิดเหตุ ชี้จุดเก็บของต่างๆ ในพื้นที่โรงงาน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด (อีโอดี) เข้าตรวจสอบด้วย ส่วนจุดเกิดเหตุเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ภ.จ.สุพรรณบุรี เก็บหลักฐานเกือบครบหมดแล้ว ในวันนี้จะเข้าไปตรวจสอบเก็บหลักฐานเกี่ยวกับระยะทางภายในที่เกิดเหตุแต่ละจุดอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อเตรียมรวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งที่พิสูจน์หลักฐานกลางต่อไปนายปภินวิช ละอองแก้ว หัวหน้า ปภ.จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์พลุระเบิด ทางจังหวัดดำเนินการประกาศให้จุดที่เกิดเหตุเป็นประเภทภัยพิบัติอื่นๆ การประกาศภัยดังกล่าวนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถที่จะนำประกาศฉบับนี้ไปใช้ประโยชน์ในการบรรเทาเยียวยาพี่น้องประชาชนได้ทันที ส่วนในเรื่องของการประกาศห้ามเข้าพื้นที่ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีประกาศตาม พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ประกาศในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด มีอำนาจที่จะประกาศห้ามบุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ในรัศมี ๔ กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มกราคมเป็นต้นมา มีกำหนดไม่เกิน ๗ วัน เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนนายปภินวิชกล่าวอีกว่า ทางจังหวัดเร่งขอความช่วยเหลือจากเงินกองทุนสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนี้รวบรวมเอกสารเรียบร้อยแล้ว คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า เงินจำนวนนี้ก็คงจะได้รับทันที เบื้องต้นทางกองทุนการช่วยเหลือของสำนักนายกรัฐมนตรีจะให้ค่าจัดการศพรายละ ๕๐,๐๐๐ บาท และกองทุนเลี้ยงชีพอีก ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นหลักเกณฑ์ที่ได้รับทุกคน แต่ทั้งนี้ ถ้ามีส่วนเพิ่มในกรณีที่ทายาทเป็นเด็กจะมีในเรื่องของทุนการศึกษาเพิ่มอีก ส่วนกรณีถ้าใครฝ่าฝืนคำสั่งแอบเข้าไปในพื้นที่ที่ประกาศเป็นภัยพิบัติ จะมีโทษตาม พระราชบัญญัติปภ.ปี ๕๐ ทันทีต่อมาช่วงบ่าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม เดินทางไปที่วัดโรงช้าง เพื่อมาให้กำลังใจญาติผู้เสียชีวิตและเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้าน พร้อมเปิดเผยว่า วันนี้ลงมาช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต มี ๙๒ คน ที่ต้องเยียวยาทางจิตใจ และส่งนักจิตวิทยาเข้าไปประกบ มีบุคคลที่น่าเป็นห่วงอยู่ ๓ คน โดยเฉพาะเจ้าของโรงงานสูญเสียภรรยาและลูก จากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ลูกกลายเป็นคนพิการ ส่วนการดำเนินการในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและในเรื่องอื่นจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลต่อมาเวลา ๑๖.๐๐ น. ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พลุระเบิดที่ได้รับร่างจากการพิสูจน์ตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลจากเดิม ๘ ศพ เพิ่มอีก ๖ ศพ รวม ๑๔ ศพ ญาติเดินทางไปบริเวณจุดเกิดเหตุพร้อมนิมนต์พระทำพิธีเชิญดวงวิญญาณกลับไปทำพิธีทางศาสนา ผู้เสียชีวิต ๑๔ ศพ ประกอบด้วย ๑.น.ส.น้ำฝน เกิดนอก ๒.นางพเยาว์ บุญกล่อม ๓.นางบุญเกื้อ ทองสัมฤทธิ์ ๔.น.ส.รัชนี พันธุ์ตัน ๕.นายรุ่งโรจน์ อุ่มน้อย ๖.นางนึก บุญกล่อม ๗.น.ส.พรทิพย์ พันธุ์แตง ๘.นายวิชาญ บุญศรีวงษ์ ๙.นายสมควร แจ้งวิถี ๑๐.น.ส.ภัสสร เล็กพอใจ ๑๑.นายทวีศักดิ์ ทองสัมฤทธิ์ ๑๒.นางรำไพ สวยค้าข้าว ๑๓.นายโสพล สวยค้าข้าว และ ๑๔.นางสุณี ขวัญอ่อน ญาติถือกรอบรูปผู้ตายและนำของใช้มาประกอบพิธีใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาทีจากนั้นญาติผู้เสียชีวิตรับ ๖ ศพ ไปประกอบพิธีทางศาสนาประกอบด้วย ๑.น.ส.รัชนี พันธุ์ตัน ๒.นางนึก บุญกล่อม ๓.นายทวีศักดิ์ ทองสัมฤทธิ์ ตั้งศพที่วัดลาดกระจับ ต.ศาลาขาว อ.เมืองสุพรรณบุรี ๔.น.ส.พรทิพย์ พันธุ์แตง ตั้งศพที่วัดขวาง ต.ศาลาขาว ๕.น.ส.ภัสสร เล็กพอใจ ตั้งศพที่วัดพระธาตุ (สวนแตง) ต.ศาลาขาว และ ๖.นางสุณี ขวัญอ่อน ตั้งศพที่วัดโรงช้าง ต.ศาลาขาวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรีว่า เรื่องทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเกิดขึ้นบ่อย ตอนนี้ต้องทำในเรื่องของผู้ที่เสียชีวิตต้องได้รับการเยียวยาที่ถูกต้อง การพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต คืนร่างให้กับญาติพี่น้องสามารถพิสูจน์ได้แล้ว ๑๕ ราย และทยอยส่งร่างผู้เสียชีวิต เรื่องนี้เป็นเรื่องระยะสั้นที่ต้องดำเนินการไปก่อน ส่วนการแก้ไขกฎหมายต้องไปดูกันอีกครั้ง ประเทศไทยมีโรงงานพลุจำนวนมาก สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดการเรื่องนี้ให้ดี เมื่อถามว่ามาตรฐานโรงงานมีการกำกับดูแลถูกต้องหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า หวังว่าจะกำกับดูแลที่ดีและถูกต้อง แต่เข้าใจว่าโรงงานพลุที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะมีขนาดที่เล็กกว่ากำหนด ต้องไปดูว่าจะมีกฎหมายตรงไหนจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยเมื่อถามว่าควรให้โรงงานผลิตพลุทุกขนาดอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่ เพื่อจะได้เกิดมาตรฐานในการดูแล นายเศรษฐาตอบว่า มีกฎที่ต้องควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาห กรรมอยู่แล้ว แต่อย่างที่พูดกันว่าโรงงานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานขนาดเล็ก คงต้องไปพูดคุยกับ รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมว่าตามข้อเท็จจริงแล้วมีการขยายพื้นที่ของโรงงานหรือไม่ เพราะถ้าเป็นโรงงานใหญ่ขนาดนี้ ควรต้องให้ขึ้นเป็นโรงงานที่มีอันตรายและต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอาจจำกัดประเภทธุรกิจหรือสินค้าแม้ขนาดจะไม่ใหญ่ แต่หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและมีความหายนะสูงต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า มีครอบครัวที่เสียชีวิตทั้งบิดามารดาจำนวน ๓ ครอบครัว เป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับต้นที่จะต้องดูแล เด็กเล็กสุดที่สูญเสียทั้งพ่อแม่ มีอายุเพียง ๘ ขวบ เรียนชั้น ป.๒ ทีมสหวิชาชีพและนักจิตวิทยาได้รายงานเป็นเคสที่หนัก เพราะเด็กยังมีอาการสั่น เพราะต้องสูญเสียทั้งพ่อและแม่ กำชับให้เจ้าหน้าที่ พม.เข้าประกบเด็กตลอด ๒๔ ชั่วโมง และยังมีเยาวชนอายุ ๑๖ ปี เรียนอยู่ ม.๔ และอายุ ๑๘ ปี เรียน ม.๖ ตนคุยกับ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา แล้วว่า มูลนิธิฯ จะดูแลเรื่องการศึกษาของน้อง ๓ ครอบครัวอย่างเต็มที่ไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ พม.จะระดมช่วยเหลือการซ่อมแซมบ้านอยู่ระหว่างเร่งสำรวจและดำเนินการให้ จัดให้มีทีมสหวิชาชีพและนักจิตวิทยาเข้าประกบญาติทั้ง ๒๓ ราย ใน ๑๗ ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระยะเวลา ๑๐ วันแรกด้าน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า วันที่ ๒๓ มกราคมกระทรวง พม.เตรียม ทำบุญครบ ๗ วัน เหตุการณ์โรงงานทำพลุระเบิด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ครอบครัวผู้สูญเสียและประชาชนในบริเวณใกล้เคียง เสร็จจากทำบุญแล้วจะเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อให้กำลังใจ โดยเฉพาะ ๓ ครอบครัวที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่เป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัว ในนามตัวแทนของมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา จะมอบเงินให้กับ ๑๗ ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง ๒๓ ราย เพราะบางครัวเรือนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๑ ราย มอบให้ครัวเรือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท เท่าที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นมีเด็กเยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษาสูญเสียทั้งพ่อและแม่ประมาณ ๔ ราย ดังนั้น มูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา จะช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างน้อยถึงระดับปริญญาตรีด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแนวทางการบริหารจัดการการอนุญาตให้ทำและค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยา และแนวทางการแก้ไขในอนาคต มีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายปกครองท้องที่ เข้าร่วมประชุม นายสมศักดิ์กล่าวหลังประชุมว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปการแก้ปัญหาที่จะบูรณาการทำงานไม่ให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก ส่วนการบูรณาการกฎหมายแก้ปัญหาในอนาคต ที่ประชุมเห็นว่าควรปรับปรุงประกาศของทั้ง ๕ กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องทั้งกลาโหม มหาดไทย สาธารณสุข แรงงาน และอุตสาหกรรม มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดู และจัดทำร่างเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าโรงงานพลุที่มีกำลังน้อยกว่า ๕๐ แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า ๕๐ คน ว่าจะควบคุมอย่างไร ส่วนการเยียวยาหากบางคนมีบุตรยังเรียนหนังสืออยู่อายุไม่เกิน ๒๕ ปี อาจได้อีก ๕ หมื่นบาท หรือบาง คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอาจได้เพิ่มประมาณ ๓ หมื่นบาท หากจะล่าช้าก็คือ การตรวจดีเอ็นเอ เพราะร่างบางรายไม่ชัดเจน นายกฯให้เร่งรัดเต็มที่นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาห กรรม กล่าวว่า ดำเนินการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโรงงาน โรงประกอบการสถานที่ จำหน่าย และสถานที่เก็บพลุตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ โดย ๕ กระทรวงจะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุม ขณะนี้ในประเทศมี ๘ โรงงานพลุที่อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัตินี้ ส่วนอีก ๔๒ โรงงานไม่ได้อยู่ในกำกับของ กระทรวงอุตฯขณะที่นายสมชัยกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยกำชับไปยังนายอำเภอให้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย สถานที่จัดเก็บ และโรงงานผลิตดอกไม้เพลิงทุกแห่งทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน จากข้อมูลของกรมการปกครองมีผู้ขออนุญาตประกอบกิจการดอกไม้ เพลิงกว่า ๑,๒๐๐ แห่ง ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าเฉพาะฤดูกาล โรงงานผลิตมีน้อยมาก และรายงานของหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) พบว่าโรงงานพลุที่ระเบิดมีหลายสัดส่วน ทั้งพื้นที่ผลิต ครัวทำอาหาร ที่จัดเก็บสารเคมี ยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ อาทิ โทรศัพท์มือถือ พัดลม เครื่องปรับอากาศอยู่ในบริเวณเดียวกัน ไม่ควรอยู่บริเวณเดียวกัน ขณะที่โรงงานขนาดเล็กกฎหมายไปไม่ถึงต้องไปแก้กฎหมายอาวุธปืน ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขเกี่ยวกับการขออนุญาตและเพิ่มบทลงโทษอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่