Sunday, 19 January 2025

ปลัดอุตฯ รับลูก "สมศักดิ์" ตั้ง คกก.ปรับปรุง ก.ม.ด่วน หลังเหตุ "พลุระเบิด"

21 Jan 2024
79

ปลัดฯ ณัฐพล รับลูก “รองนายกฯ สมศักดิ์” ตั้ง คกก.ปรับปรุงกฎหมายด่วน ประชุมทันที มอบหมาย กรอ.ปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติโรงงาน กำหนดสถานประกอบการเสี่ยงสูงให้เป็นโรงงานภายใต้กำกับของ อก.เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๗ ด็อกเตอร์ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบ และข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ ได้ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๑ โดยมี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ที่ปรึกษา, นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมการฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น ๓ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Zoomปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการร่วมประชุมแนวทางการบริหารจัดการการอนุญาตให้ทำ และค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยา และแนวทางการแก้ไขในอนาคต เมื่อช่วงเวลา ๑๑.๐๐ น.  (๑๙ มกราคม ๖๗) โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมฯ ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโรงงานให้ครอบคลุมสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถกำกับดูแลให้มีความปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนโดยรอบและในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบ และข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ และได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ ในทันที พร้อมสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อกำหนดให้สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง และอาจมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ แต่มีการใช้เครื่องจักรต่ำกว่า ๕๐ แรงม้า หรือใช้งานคนน้อยกว่า ๕๐ คน โดยเฉพาะสถานประกอบการการผลิตดอกไม้เพลิง ซึ่งเดิมไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงาน ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้สถานประกอบการดังกล่าวต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นการเร่งด่วน นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ทำงานเชิงรุก เร่งศึกษา และทบทวนกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบ และข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อันตราย และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และผู้อยู่อาศัยข้างเคียง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชุมชน และประชาชนโดยรอบโรงงาน เป็นการสร้างหลักประกัน และความมั่นใจให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อาจได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม จากการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งที่เป็นโรงงานที่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และที่เป็นโรงงานซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอื่นๆ.