Tuesday, 24 September 2024

เตือนประชาชน-หน่วยงาน รับมือภัยสุขภาพปี ๒๕๖๗ "๓ โรคระบาด ๑๒ เฝ้าระวัง" สร้างเกราะป้องกันก่อนสาย

23 Jan 2024
121

๓ โรคระบาด ๑๒ โรคเฝ้าระวัง ภัยสุขภาพปี ๒๕๖๗ ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนดังๆถึงการ คาดการณ์สถานการณ์โรคที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวัง พร้อมออกคำแนะนำในการป้องกันตนเอง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เตรียมพร้อมทั้งยา เวชภัณฑ์ เตียง บุคลากร รับมือหากเกิดการระบาดขึ้นtt ttนพ.ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกถึงเหตุผลที่ต้องออกมาเตือนสังคมดังๆ เกี่ยวกับการคาดการณ์ของโรคต่างๆว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกปีจะมีการประเมินสถานการณ์ว่าจะมีโรคใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย และออกมาแจ้งให้ประชาชนทราบเพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวรับมือป้องกัน รวมทั้งการพยากรณ์จำนวนคนไข้ เพื่อให้หน่วยราชการเตรียมยา เวชภัณฑ์ เตียงรองรับดูแลประชาชนที่เจ็บป่วย ที่สำคัญหลายโรคสามารถป้องกันได้ หากเราปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่อยากให้ตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจในโรคนั้นๆครับ”“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอสรุปการคาดการณ์และคำแนะนำในการป้องกัน ๓ โรคระบาด และ ๑๒ โรคเฝ้าระวัง ที่ถือเป็นภัยสุขภาพประจำปี ๒๕๖๗ ดังนี้tt tttt ttสำหรับ ๓ โรคระบาด ได้แก่ ๑.โรคโควิด-๑๙ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นโรคประจำถิ่น ปี ๒๕๖๗ คาดว่าจะพบผู้ป่วย ๖๔๙,๕๒๐ คน นอนโรงพยาบาล ๓๘,๖๗๒ คน เสียชีวิต ๘๕๒ คน สายพันธุ์ที่พบยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม ๖๐๘ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ส่วนบุคคลทั่วไปฉีดตาม ความสมัครใจ ทั้งแนะนำประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน หรือเข้าใกล้ผู้สูงอายุ และควรล้างมือบ่อยๆ ๒.โรคไข้หวัดใหญ่ คาดว่าปีนี้จะพบผู้ป่วย ๓๔๖,๑๑๐ คน เริ่ม ระบาดเดือน พ.ค. ป้องกันโดยฉีดวัคซีนปีละ ๑ ครั้ง ๓.โรคไข้เลือดออก คาดว่าพบผู้ป่วย ๒๗๖,๙๔๕ คน เสียชีวิต ๒๘๐ คน ปัจจุบันไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบได้ในทุกกลุ่มอายุ และจะเป็นอันตรายมากกับวัยผู้ใหญ่ ป้องกันได้โดยการทายากันยุง กำจัดแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้าน ที่สำคัญควรทายากันยุงในผู้ป่วย ไข้เลือดออก เพื่อป้องกันยุงกัด และนำเชื้อไปติดต่อผู้อื่นส่วน ๑๒ โรคเฝ้าระวัง ได้แก่ ๑.โรคมือเท้าปาก ๒.โรคหัด ๓.โรคฝีดาษวานร ๔.โรคไข้ดิน ๕.โรคฉี่หนู ๖.โรคไข้หูดับ ๗.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ๘.โรคชิคุนกุนยา ๙.โรคซิฟิลิส ๑๐.โรคหนองใน ๑๑.โรคเอชไอวี/เอดส์ ๑๒.โรควัณโรคtt tttt ttโดยแบ่งเป็น โรคที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก ได้แก่ ๑.โรคมือเท้าปาก ปีนี้คาดว่าจะมีผู้ป่วย ๖๑,๔๗๐ คน ครูโรงเรียนประถมหรือศูนย์เด็กเล็ก ควรคัดกรองเด็กทุกวัน หากพบเด็กป่วยให้แยกจากเด็กปกติ และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำหรับเด็กป่วยควรหยุดเรียน ผู้ปกครองที่มีลูกหลานอายุต่ำกว่า ๕ ปี หากเด็กมีอาการไข้ มีตุ่มหรือแผลในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้รีบพบแพทย์ ๒.โรคหัด คาดว่ามีผู้ติดเชื้อ ๑,๐๘๙ คน โรคนี้ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ผู้ปกครองควรนำบุตรหลานรับวัคซีนป้องกันโรคหัด (MMR) ให้ครบ ๒ ครั้ง โดยเข็มแรก ตอน ๙-๑๒ เดือน เข็มที่สอง อายุ ๑ ปีครึ่ง หากพบบุตรหลานมีไข้ ผื่น ร่วมกับไอ มีน้ำมูก หรือตาแดง ให้รีบไปพบแพทย์tt ttโรคใหม่ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ๓.โรคฝีดาษวานร คาดว่าจะพบผู้ป่วย ๔๐๐ คน เป็นโรคใหม่ของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะติดในกลุ่มชายรักชาย แต่คนทั่วไปก็ติดได้ ถ้าไปสัมผัสสารคัดหลั่ง โรคนี้ปกติไม่เสียชีวิตและหายได้ แต่ผู้เสียชีวิตคือ กลุ่มเป็นเอดส์และไม่ได้กินยาต้านไวรัสแล้วเป็นฝีดาษวานรและมีโรคอื่นสมทบ ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับคนแปลกหน้า หรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่องควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและรับประทานยาประจำอย่างสม่ำเสมอ และหากมีตุ่ม ผื่น เกิดขึ้นหลังสัมผัสโรค ควรรีบพบแพทย์โรคที่ต้องระวังเมื่อย่ำน้ำลุยโคลน ได้แก่ ๔.โรคไข้ดิน หรือโรคเมลิออยโดสิส พบมากในเกษตรกร คาดว่า ๓,๔๐๐ คน ๕. โรคฉี่หนู ปีนี้คาดว่าพบ ๒,๘๐๐ คน ดังนั้น เมื่อต้องย่ำน้ำ เข้าสวน นา ไร่ ควรสวมรองเท้าบูตถุงมือยาง เมื่อมีอาการไข้ หายใจหอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์ สำหรับโรคฉี่หนูหากปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา หลังลุยน้ำย่ำโคลน ๑-๒ สัปดาห์ ให้รีบพบแพทย์tt ttโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ได้แก่ ๖.โรคไข้หูดับ คาดว่ามีผู้ติดเชื้อ ๔๓๒ คน เป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยกินเนื้อหมูสุก เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หากมีไข้ สับสน คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงเฉียบพลัน ต้องพบแพทย์ทันทีโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ ๗.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นโรคที่นำมากับยุงลาย โดยเฉพาะเป็นอันตรายกับหญิงตั้งครรภ์ ถ้าติดเชื้อซิกาเด็กมีโอกาสศีรษะเล็กและพิการทางสมอง ซึ่งปี ๒๕๖๖ พบเด็กศีรษะเล็ก ๑๓ คน โรคนี้เชื้ออยู่ในเชื้ออสุจิของเพศชายได้นานกว่า ๓ เดือน ๘.โรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ปีนี้แนวโน้ม ๑,๓๘๙ คน ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้เลือดออก มียุงลาย เป็นพาหะเหมือนกัน ป้องกันยุงกันด้วยการทายากันยุง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งจะป้องกันได้ถึง ๓ โรคtt ttโรคที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ๙.โรคซิฟิลิส ปีนี้คาดว่าพบ ๑๗,๒๗๓ คน พบในเยาวชนมากขึ้น และเริ่มพบโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ถ่ายทอดสู่ลูก ๑๐.โรคหนองใน คาดว่าพบผู้ติดเชื้อ ๗,๒๕๔ คน ๑๑.โรคเอชไอวี/เอดส์ ปีนี้คาดว่ามีผู้ติดเชื้อ ๙,๓๖๖ คน เสียชีวิต ๑๐,๐๑๔ คน ทั้งโรคซิฟิลิส โรคหนองใน และโรคเอชไอวี/เอดส์ สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย กินยาอย่างสม่ำเสมอ และ ๑๒.โรควัณโรค คาดว่าปีนี้จะพบ ๘๒,๗๕๙ คน โรคนี้เมื่อรับเชื้อแล้ว กว่าจะแสดงอาการใช้เวลานาน ๑ ถึง ๒ ปี ใครที่เคยสัมผัสผู้ป่วย วัณโรค ถ้ามีอาการไอ ไข้ต่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรพบแพทย์และแจ้งว่าเคยเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่า เรื่องโรคระบาดเป็นภัยสุขภาพ ซึ่งประชาชนจำเป็นต้องรับทราบข้อมูลต่างๆอย่างเป็นทางการจากหน่วยราชการ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการจะสร้างเกราะป้องกันภัยจากเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็น จะต้องเป็นความร่วมมือของทั้ง ๒ ฝ่าย โดยภาคประชาชนจะต้องมีความรู้และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างจริงจัง ขณะที่ภาครัฐก็เป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูล แจ้งถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ทั้งเตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ บุคลากรรับมือ กรณีเกิดการระบาดขึ้นที่ผ่านมาหลายๆโรคได้ให้บทเรียนและองค์ความรู้กับมวลมนุษยชาติอย่างมากมายขอเพียงเราตระหนักรู้และไม่เพิกเฉยที่จะป้องกันตัวเองก่อนสาย จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตทรัพย์สินและเศรษฐกิจของชาติได้อย่างแน่นอน.ทีมข่าวสาธารณสุขอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่