Sunday, 19 January 2025

“สว.สถิตย์” ชง เปลี่ยนเขตในกทม.เป็นเทศบาล เพื่อเป็นรูปแบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

“สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” เสนอกระจายอำนาจ กทม. ควรเปลี่ยนเขตเป็นเทศบาล เพื่อประโยชน์ดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ชี้ จะเป็นต้นแบบในการกระจายอำนาจท้องถิ่นไปสู่จังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗ ที่รัฐสภา นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ได้อภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนโครงสร้างกรุงเทพมหานคร ตามที่คณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิสภา ได้นำเสนอ โดยนายสถิตย์กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครอง ๓ ระดับ คือ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น และมีความพยายามที่จะลดราชการส่วนภูมิภาคให้เหลือเฉพาะราชการส่วนกลาง และราชการส่วนท้องถิ่นตามความเหมาะสมของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนราชการส่วนท้องถิ่นตามที่คณะกรรมาธิการฯได้รายงานว่า ปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบทั่วไปและรูปแบบพิเศษ “ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ควรจะแบ่งเป็นรูปแบบทั่วไปและรูปแบบพิเศษ แต่ควรมีเพียงรูปแบบเดียว และแบ่งออกเป็น ๒ ระดับคือ ระดับจังหวัด และระดับเทศบาล ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ก็ควรแบ่งออกเป็นระดับจังหวัด และระดับเทศบาลเช่นกัน ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งมาจากการเลือกตั้งมา ในระดับเขตมี ๕๐ เขต ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เสนอให้เป็น ๕๐ นครเพื่อให้บริหารท้องถิ่นได้ดีขึ้นนั้น ผมเสนอว่า ๕๐ เขตดังกล่าว สมควรแปลงสถานะเป็นเทศบาลตามรูปแบบเทศบาลทั่วไป โดยอาจเป็นเทศบาลนคร หรือเป็นเทศบาลเมืองแล้วแต่ขนาดของแต่ละเทศบาล หรืออาจปรับเปลี่ยนจำนวนเทศบาลให้แตกต่างไปจาก ๕๐ เขตเดิมก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องเป็นรูปแบบของเทศบาล ไม่ใช่รูปแบบเขตอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะรูปแบบเทศบาลจะทำให้ดูแลบริหารท้องถิ่นได้ใกล้ชิดสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ดีกว่า” นายสถิตย์ กล่าว นายสถิตย์ กล่าวอีกว่า ในภาพรวมของประเทศ รูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากจะมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดในระดับจังหวัดแล้ว ในระดับการบริหารท้องถิ่น ควรมีเฉพาะรูปแบบของเทศบาลเท่านั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีเฉพาะรูปแบบเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล ต้องพัฒนาไปเป็นเทศบาลตำบล โดยเกลี่ยขนาดให้เหมาะสมกับการเป็นเทศบาล  นายสถิตย์เสนอต่อไปว่า ต้องมีการจัดวางโครงสร้างที่สมดุลระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น ต้องแบ่งอำนาจบริหารระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรุงเทพมหานครให้มีความชัดเจน และในส่วนกรุงเทพมหานครเอง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะมีหน้าที่ดูแลในภาพรวมในเชิงมหภาคของกรุงเทพมหานคร ส่วนเทศบาลทำหน้าที่บริหารท้องถิ่นในท้องถิ่นที่รับผิดชอบ โดยรูปแบบนี้ควรจะเป็นต้นแบบในการกระจายอำนาจท้องถิ่นไปสู่จังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น เชียงใหม่ หรือ ภูเก็ต คือ จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลภาพรวม และมีเทศบาลบริหารท้องถิ่นของตน ทั้งในรูปแบบเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบลก็ปรับเปลี่ยนเป็นเทศบาลตำบล จะได้มีเพียงรูปแบบจังหวัดกับเทศบาลเท่านั้น