Sunday, 19 January 2025

ไขความกระจ่างวัฒนธรรมทางวัตถุขั้นสูงอายุ ๔๕,๐๐๐ ปี

เมื่อกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว นักโบราณคดีได้ค้นพบสิ่งประดิษฐ์จากชั้นหินที่แหล่งโบราณคดียุคปลายหินเก่าฉือหยู ในมณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีน ซึ่งการวิจัยครั้งใหม่โดยทีมวิจัยนานาชาติจากจีน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี ระบุว่าสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้มีอายุย้อนไปถึง ๔๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว ตรงกับยุคหินเก่าตอนกลาง การค้นพบนี้ไขความกระจ่างเกี่ยวกับการอพยพของกลุ่มมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ที่เดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเมื่อประมาณ ๔๕,๐๐๐ ปีก่อน นับว่าเร็วกว่าที่เชื่อกันไว้ถึง ๕,๐๐๐ ปีนักวิจัยจากบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) ในจีน เผยการวิเคราะห์กลุ่มสิ่งประดิษฐ์หินเหล่านี้ ชี้ให้เห็นชุดเครื่องมือที่ซับซ้อน มีใบมีดหินที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคนิคแบบเลอวัลลัว (Levallois) คือการกะเทาะหิน, มีชิ้นส่วนปลายหอก และกระดูกสัตว์มีรอยบาดที่แสดงถึงการล่าสัตว์ขนาดใหญ่ และฆ่าแบบเจาะจง ที่น่าทึ่งที่สุดคือซากหินออบซิเดียนที่ส่องพบด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตรงกับที่มีอยู่ในแหล่งธรณีวิทยาที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรอย่างชัดเจน บ่งบอกถึงเครือข่ายการค้าขายทางไกลในยุคนั้นการค้นพบสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่ที่ฉือหยู ให้มุมมองที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับอดีตอันลึกซึ้งของมนุษย์ที่อาศัยในเอเชียตะวันออก ซึ่งครั้งหนึ่งนักวิจัยเคยคิดว่าดินแดนแถบนี้ถูกครอบครอง โดยมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ทว่าแท้จริงแล้วภูมิภาคนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มนักล่าสัตว์และหาของป่าที่มีการติดต่อกันทางไกล มีกลยุทธ์การล่าสัตว์เฉพาะทาง และมีฝีมือศิลปะเชิงสัญลักษณ์ที่เทียบได้กับกลุ่มนักล่าสัตว์และหาของป่าในยุโรปและแอฟริกา.Credit : Institute of Vertebrate Paleontology and Paleoanthropology (IVPP)อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่