Sunday, 19 January 2025

สส.ปชป.ถามกระทู้ ไทยมีแหล่ง "แร่ลิเทียม" อันดับ ๓ โลก-รัฐมนตรีว่าการอุตฯ เร่งแจง

สส.ปชป.ถามกระทู้รัฐบาล ไทยมีแหล่งแร่ลิเทียมผลิตรถยนต์ EV มากเป็นอันดับ ๓ โลกจริงหรือ? ขณะ รัฐมนตรีว่าการอุตฯ รับ เป็นความสับสนศัพท์ทางเทคนิค ยัน ไทยมีแร่ลิเทียมจริง แต่เป็นหินที่มีแร่ลิเทียมแทรกอยู่ ๑๔.๘ ล้านตัน สั่ง เร่งแจงประชาชนแล้ว วันที่ ๒๕ มกราคม ๖๗ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของ นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ สอบถามนายกรัฐมนตรี ถึงกรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แถลง ประเทศไทยพบแหล่งแร่ลิเทียม จ.พังงา ที่มีมากเป็นอันดับ ๓ ของโลก เพื่อใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แสดงให้เห็นสัญญาณดีประเทศไทย อาจเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก แต่นักวิชาการหลายคนมองว่า ไม่น่าจะมีมากเป็นอันดับ ๓ ของโลก”อยากทราบว่า พบมาเป็นอันดับ ๓ ของโลกจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงก็เป็นเฟกนิวส์ของรัฐบาล ไม่ได้หลอกคนไทย แต่หลอกไปทั่วโลก ศูนย์เฟกนิวส์ต้องตรวจสอบให้ดีว่า ข่าวรัฐบาลเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และการทำเหมืองแร่ลิเทียมจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ดังนั้น รัฐบาลมีแนวทางบริหารจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไรด้าน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ชี้แจงแทน ว่า ประเทศไทยมีการสำรวจแหล่งแร่ลิเทียม ๒ แหล่ง ที่ จ.พังงา คือ “แหล่งเรืองเกียรติ” และ “แหล่งบางอีตุ้ม” เป็นแหล่งที่เข้าไปสำรวจแล้ว พบมีหินที่มีแร่ลิเทียมเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะ “แหล่งเรืองเกียรติ” มีปริมาณหินที่มีลิเทียมแทรกอยู่ ๑๔.๘ ล้านตัน ความสับสนที่เกิดขึ้นเป็นศัพท์เทคนิคของเหมืองที่เข้าใจยาก ๑๔.๘ ล้านตันที่พบเป็นปริมาณหินที่มีแร่ลิเทียมแทรก ไม่ใช่จำนวนแร่ลิเทียม ให้กรมฯ ไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจแล้ว”ยืนยันมีแหล่งแร่อยู่จริง แต่ด้วยความที่ทุกคนตื่นเต้น การสื่อสาร ความเข้าใจศัพท์เทคนิคอาจไม่เป็นทางเดียวกัน ยอมรับ มีการสื่อสารผิดพลาดเกิดขึ้น จะพยายามใช้ศัพท์ให้ตรงกันมากขึ้น เลี่ยงใช้ศัพท์เทคนิค แต่เรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ว่า เรามีสารตั้งต้นผลิตแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะอยู่ลำดับใด ไม่ควรด้อยค่ากัน ให้ภูมิใจประเทศไทย มีแหล่งแร่ลิเทียม เป็นฮับผลิตรถอีวี จะมีการบริหารจัดการที่ดีเรื่องแร่ลิเทียมให้สามารถอยู่คู่กับชุมชนได้ ดังนั้น ไม่ต้องกังวล”