Sunday, 19 January 2025

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จงานผ้าไทยฯ ภาคใต้ พระราชทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายชบาปัตตานี”

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ พร้อมพระราชทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายชบาปัตตานี” สร้างอัตลักษณ์ สืบสาน ต่อยอดภูมิปัญญา และงานหัตถศิลป์พื้นถิ่นวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๗ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ แหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ ๑๕ ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง, พลตรีขจรศักดิ์ อินทร์ทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๔๖, พลตำรวจตรีอาชาน จันทร์ศิริ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๙, พลตรีเฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๑๕, นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นางสาวธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ด็อกเตอร์วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, นางสมฤดี ขำเขียว ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากองพลทหารราบที่ ๑๕ ข้าราชการและประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเข้าสู่บริเวณนิทรรศการ และการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ โดยมีกลุ่มผู้เฝ้าฯ รับเสด็จขอพระราชทานคำแนะนำ จำนวน ๓๐ กลุ่ม จากทั้งจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยภายหลังจากทรงมีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายชบาปัตตานี” แก่นายอนุทิน พร้อมทั้งพระราชทานแม่แบบพิมพ์ผ้าลายชบาปัตตานีแก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย และพระราชทานลายผ้าพระราชทาน ผ้าลายชบาปัตตานี แก่นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี tt tttt tttt ttสำหรับ ผ้าลายชบาปัตตานี เป็นลายที่ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี โดยทรงนํามาออกแบบผสมผสานกับลายดอกชบา (Hibiscus ไฮบิสคัส) และลายเถาไม้เลื้อย ที่สื่อถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี และสร้างสรรค์ขึ้นเป็นผ้าลายชบาปัตตานี พระราชทานเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าชาวจังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างอัตลักษณ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ ๓๖ พรรษา พร้อมทั้งพระราชทานแบบชุดกลางวันสำหรับสุภาพบุรุษ แบบชุดกลางวันสำหรับสุภาพสตรี แบบชุดกลางคืนสำหรับสุภาพบุรุษ และแบบชุดกลางคืนสำหรับสุภาพสตรี รวม ๖ แบบ ทั้งนี้ ผ้าลายชบาปัตตานี เป็นการผสมผสานลวดลาย ลายดอกชบา และลายเถาไม้เลื้อย ซึ่งดอกชบาเป็นดอกไม้ประจําจังหวัดปัตตานี มีอีกชื่อว่า บุหงารายา คำว่าบุหงา แปลว่า ดอกไม้ รายา แปลว่า พระราชา บุหงารายา จึงมีความหมายถึง “ดอกไม้ของพระราชา” ขณะที่ลายเถาไม้เลื้อยมาจากลายฉลุของช่องลมจากวังเจ้าเมืองยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม เจ้าประเทศราชเมืองยะหริ่ง ลำดับ ๓ ตัวเรือนไม้กึ่งปูน เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างศิลปะพื้นเมืองชวาและยุโรป และลายช่องลม หรือมัสยิดรายอฟาฏอนี หรือมัสยิดจะบังติกอ เป็นสถาปัตยกรรมไม้แบบมลายูยุคเก่า ตกแต่งด้วยลวดลายสลักและเถาวัลย์พรรณพฤกษา และมีการผสมผสานลายช่องลมรูปทรงเรขาคณิต สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๓๘๘-๒๓๙๙tt tttt tttt ttก่อนเสด็จกลับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรการแสดงชุดระบำรองเง็ง พร้อมการบรรเลงดนตรี โดยวงอาเนาะบุหลัน (ลูกพระจันทร์) นักเรียนโรงเรียนวัดสุวรรณากร อำเภอหนองจิก ซึ่งอาเนาะบุหลัน คือดนตรีพื้นเมืองชายแดนใต้ที่ได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากวงบุหลันตานีของ อาจารย์เซ็ง อาบู และอาจารย์ขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติชาวจังหวัดปัตตานี คำว่า อาเนาะ หมายถึง ลูก บุหลัน หมายถึง พระจันทร์ ในส่วนของการแสดงของวงอาเนาะบุหลัน เป็นการแสดงดนตรีเพลงพื้นเมือง (รองเง็ง) ที่มีอยู่ในแถบแหลมมลายู ประกอบไปด้วยนักดนตรีและนักแสดง ซึ่งเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน ๑๔ คน เครื่องดนตรีที่ใช้คือ ไวโอลิน แมนโดลิน แอคคอร์เดียน ฆ้อง กลองรำมะนาใหญ่ กลองรำมะนาเล็ก แทมโบลิน และมาราคัส ทำการแสดง ๒ บทเพลง คือ ๑.เพลงอูดังซามาอูดัง ซึ่งคำว่า อูดังซามาอูดัง หมายถึง กุ้งก็เหมือนกับกุ้ง คนเฒ่าคนแก่ได้เปรียบเปรยกุ้งกับปลาทูว่ามีความต่างกัน สอนให้มองหาเพื่อน หรือคู่ชีวิตด้วยความระมัดระวัง และ ๒.เพลงเมาะอินังลามา ที่สื่อความหมายถึงแม่นม หรือพี่เลี้ยง เป็นเพลงเก่าแก่ ลามา หมายถึง เก่าแก่ แต่บางครั้งก็เรียกชื่อเพลงนี้ว่า กึมบังจีนา ซึ่งหมายถึงดอกพุดที่กำลังแย้มบาน การแสดงแบบเดิมเมื่อเริ่มการแสดงฝ่ายชายจะโค้งฝ่ายหญิงที่เป็นคู่เต้น พร้อมกับมอบผ้าเช็ดหน้าให้แก่ฝ่ายหญิง และขอผ้าคลุมไหล่ของฝ่ายหญิงมาคลุมไหล่ตนเอง ฝ่ายหญิงจะใช้ผ้าเช็ดหน้าโดยจับชายผ้าทั้ง ๒ ชายไว้ ขณะเดียวกันก็เต้นหลบฝ่ายชายไปพร้อมกัน.tt tttt tt