คิม จอง-อึน ประกาศละทิ้งนโยบายรวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างสันติวิธีกับเกาหลีใต้แล้ว และตีตราประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้เป็นศัตรูลำดับ ๑ จนทำให้เกิดความกังวลว่า คิม จอง-อึน กำลังเตรียมทำสงครามหรือไม่นักวิเคราะห์หลายคนต่างถกเถียงกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต บางคนก็เชื่อว่า คิม จอง-อึน กำลังเตรียมตัวเพื่อทำสงครามจริงๆ ขณะที่บางคนคิดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนมองว่า ท่าทีของนายคิมอาจเป็นการสร้างเงื่อนไขบางอย่าง เพื่อกดดันสหรัฐฯ ที่กำลังหัวหมุนรับศึกหลายด้าน ให้ทำตามในสิ่งที่พวกเขาต้องการเมื่อวันสิ้นปี ๒๕๖๖ และเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือประกาศว่า พวกเขาจะไม่หาทางเพื่อปรองดอง และกลับไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับเกาหลีใต้อีกต่อไป พร้อมทั้งแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดให้เกาหลีใต้เป็น “ปรปักษ์หมายเลข ๑ และศัตรูหลักที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้”ประกาศของคิม นับเป็นการพลิกนโยบายที่วางเอาไว้โดยคิม จอง-อิล และ คิม อิล-ซุง พ่อและปู่ของเขาซึ่งเป็นอดีตผู้นำเผด็จการของเกาหลีเหนือ คิมยังสั่งปิด ๓ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการรวมชาติกับเกาหลีใต้ด้วยตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดขึ้น ทั้งเพิ่มการใช้วาทกรรมโจมตีเกาหลีใต้ เพิ่มการทดสอบอาวุธ ถึงขั้นมีการยิงปืนใหญ่กว่า ๒๐๐ นัดข้ามพรมแดนเข้าสู่น่านน้ำของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ ๕ ม.ค. นำไปสู่การยิงตอบโต้ของรัฐบาลกรุงโซล และเสียงประณามจากสหรัฐฯท่าทีล่าสุดของคิมยังทำให้เกิดการตีความและคาดเดาไปต่างๆ นานา ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า นายคิมกำลังวางแผนก่อสงคราม แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่า สงครามเต็มรูปแบบไม่น่าเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนืออาจกำลังพิจารณาเรื่องการโจมตีแบบจำกัดเข้าใส่เกาหลีใต้ก็เป็นได้tt ttคำพูดคิมน่ากังวลคิม จอง-อึน เปลี่ยนแปลงความเข้าใจในเกาหลีใต้ของคนในประเทศไปถึงระดับรากฐาน โดยตีตราประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้เป็น “รัฐปรปักษ์” จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็น “คนชาติเดียวกัน” ขณะที่ในการปราศรัยต่อหน้าสภาตรายาง คิมเรียกเกาหลีใต้ว่าเป็น “ปรปักษ์หมายเลข ๑ และศัตรูหลักที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้”นายคิมบอกด้วยว่า หากสงครามเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญของประเทศควรมีการใคร่ครวญอย่างละเอียดในเรื่อง “การเข้าครอบครอง”, “การยึดคืนกลับมา” และ “การรวม” เกาหลีใต้เข้าสู่ดินแดนของเกาหลีเหนือ โดยผู้นำสูงสุดรายนี้ย้ำว่า ประเทศของเขาไม่ต้องการสงคราม แต่ก็ไม่มีความตั้งใจที่จะหลีกหนีเช่นกันดร.จอห์น นิลส์สัน-ไรท์ หัวหน้าโครงการศึกษาความสัมพันธ์ญี่ปุ่นและสองเกาหลี จากศูนย์ภูมิรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บอกกับสำนักข่าว บีบีซี ว่า คำพูดของนายคิมเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นเรื่องผิดปกติมากที่ผู้นำเกาหลีเหนือจะละทิ้งจากนโยบายรวมชาติ อันเป็นนโยบายหลักมาตั้งแต่ช่วงก่อตั้งประเทศคิม จอง-อึน ยังสั่งทำลาย ‘Reunification Arch’ หรือ ‘อนุสาวรีย์รวมชาติ’ บริเวณชานกรุงเปียงยาง ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี ๒๕๔๔ เพื่อรำลึกถึงความพยายามของพ่อและปู่ของเขาเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายคือกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวกับเกาหลีใต้อีกครั้งด้วยคิม อิล-ซุง คือผู้ที่พาเกาหลีเหนือเข้าสู่สงครามในปี ๒๔๙๓ แต่เขาก็เป็นคนที่วางแนวคิดเอาไว้ว่า สักวันหนึ่งชาวเกาหลีเหนือจะได้กลับไปรวมกับพี่น้องชาติเดียวกันในเกาหลีใต้อีกครั้ง แต่ทว่าตอนนี้ หลานของเขาเลือดที่จะนิยมชาวเกาหลีใต้ว่าเป็น “คนอื่น” อย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจเป็นการสร้างความชอบธรรมให้พวกเขาสามารถมองชาวเกาหลีใต้เป็นเป้าหมายทางทหารได้tt ttคิมกำลังเตรียมทำสงคราม?ด้วยความที่โลกกำลังเผชิญสงครามถึง ๒ จุดในตะวันออกกลางและในยูเครน คำพูดของคิม จอง-อึน ยิ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเขาอาจกำลังหาจังหวะก่อเรื่องในคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งการโจมตีใดๆ ในคาบสมุทรเกาหลีจะดึงสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากพวกเขาเป็นพันธมิตรกับเกาหลีใต้ตามสนธิสัญญารวมถึงเป็นผู้สนับสนุนหลัก ยิ่งกว่านั้น ความขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้น อาจเป็นประโยชน์แก่ทั้งจีนและรัสเซีย เพราะสหรัฐฯ ต้องเสียทรัพยากรกับเงินมากขึ้น เพิ่มเติมจากสมรภูมิที่ตะวันออกกลางกับยูเครนท่าทีล่าสุดของนายคิมยังเกิดขึ้นในขณะที่ จีนเพิ่มความก้าวร้าวต่อไต้หวัน อีกหนึ่งดินแดนที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน และความขัดแย้งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน ซึ่งแดนมังกรเชื่อมั่นว่าจะกลับมารวมกับพวกเขาอีกครั้งแม้จะต้องใช้กำลัง จะดึงทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาคอย่างญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในรายงานที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อนของนายโรเบิร์ต คาร์ลิน อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กับ ดร. ซีกฟรีด เอส. เฮคเกอร์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ชี้ว่า คิมมีการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์แล้วว่าจะทำสงคราม และคาบสมุทรเกาหลีกำลังอยู่ในสถานการณ์อันตรายที่สุดนับตั้งแต่เกิดสงครามเมื่อ ๗๔ ปีก่อน“มันอาจจะฟังดูโอเวอร์เกินไป แต่เราเชื่อว่า คิม จอง-อึน ได้ตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์แล้วว่าจะทำสงคราม เหมือนกับปู่ของเขาในปี ๒๔๙๓ … เราไม่รู้ว่าเมื่อไรหรือคิมวางแผนจะเริ่มสงครามอย่างไร แต่อันตรายนั้นไปไกลเกินกว่าคำเตือนเรื่องการยั่วยุของเปียงยาง ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสหรัฐฯ, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นแล้ว”tt ttหวั่นเกาหลีเหนือโจมตีแบบจำกัดอย่างไรก็ดี มีนักวิเคราะห์หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของนายคาร์ลินกับ ด็อกเตอร์เฮคเกอร์ เช่น ด็อกเตอร์อี ซอง-ฮยอน จากมูลนิธิ จอร์จ เอชดับเบิลยู บุช เพื่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ชี้ว่า เกาหลีเหนือกำลังมีแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในเดือนหน้า และพวกเขาก็กำลังขายกระสุนปืนใหญ่ให้รัสเซีย ซึ่งไม่ส่งผลดีหากเปียงยางกำลังวางแผนทำสงครามนอกจากนั้น ต่อให้เกาหลีเหนือเปิดฉากโจมตีจริง กองทัพของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ก็มีความก้าวหน้ากว่ามาก “สงครามทั่วไปอาจสังหารผู้คนมากมายในเกาหลีใต้ แต่มันก็อาจเป็นจุดสิ้นสุดของคิม จอง-อึน และรัฐบาลของเขาด้วย” นายปีเตอร์ วอร์ด นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัย กุกมิน ในกรุงโซลกล่าวด้านนายอันคิต พันดา จากสถาบันสนับสนุนความสงบสุขระหว่างประเทศ ‘คาร์เนกี’ (Carnegie) เชื่อว่า แทนที่จะเปิดสงครามแล้วพบกับความล่มสลาย เกาหลีเหนืออาจกำลังสร้างเงื่อนไขเพื่อเคลื่อนไหวในขนาดเล็กกว่า “โดยทั่วไปแล้ว ผมกังวลเรื่องการโจมตีอย่างจำกัดต่อเกาหลีใต้มากกว่า … การโจมตีประเภทที่มุ่งเป้าไปยังดินแดนหรือกองทัพของเกาหลีใต้ แต่จำกัดขอบเขต”การโจมตีอย่างจำกัดอาจรวมถึง การยิงปืนใหญ่ หรือการพยายามยึดครองเกาะพิพาททางตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลี โดยในปี ๒๕๕๓ เกาหลีเหนือเคยโจมตีเกาะยอนพยอง ทำให้ทหารเกาหลีใต้เสียชีวิต ๔ นาย สร้างความโกรธเคืองแก่รัฐบาลกรุงโซลอย่างมากการยั่วยุแบบเดียวกันอาจเกิดขึ้นอีก เพื่อทดสอบขีดจำกัดของเกาหลีใต้ว่าจะยอมให้ได้แค่ไหน และยั่วโมโหประธานาธิบดี ยูน ซุค-ยอล ผู้นำสายเหยี่ยวผู้เคยให้คำมั่นว่า การโจมตีของเกาหลีเหนือจะต้องเผชิญบทลงโทษที่รุนแรงกว่าหลายเท่าตัวนายพันดากล่าวว่า “เกาหลีเหนืออาจกำลังคาดหวังจะล่อให้เกาหลีใต้โจมตีตอบโต้อย่างไม่เหมาะสม” ซึ่งอาจจุดประกายให้การต่อสู้กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นtt ttเพื่อกดดันสหรัฐฯ หรือเพื่อความอยู่รอด?ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเกาหลีเหนือไม่ใช่การทำสงคราม แต่เป็นการหาทางกดดันสหรัฐฯ ให้ยอมรับพวกเขาเป็นประเทศผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ หรือพยายามใช้การยั่วยุดึงสหรัฐฯ กลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง ท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดร.อี มองว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีที่คิม จอง-อึน จะเคลื่อนไหว เพราะตอนนี้สหรัฐฯ กำลังพัวพันกับสงครามในตะวันออกกลางกับยูเครน จึงไม่ได้ให้ความสนใจเกาหลีเหนือมากนัก นอกจากนั้น ปี ๒๕๖๗ นี้ ยังเป็นปีแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีของทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีใต้คิม จอง-อึน กับโดนัลด์ ทรัมป์ เคยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ก่อนที่การเจรจาเรื่องปลดอาวุธนิวเคลียร์จะล่มไป เปียงยางอาจรอให้ทรัมป์กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้แย่ลงอีกครั้ง แล้วค่อยเดินหน้าเรื่องการเปิดเจรจารอบใหม่หรือ ความเคลื่อนไหวทั้งหมดทั้งมวลของ คิม จอง-อึน อาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ว่าเลย แต่เป็นการทำเพื่อสร้างเสถียรภาพแก่รัฐบาลของเขาเอง โดยศาสตราจารย์ ลีฟ-เอริค อีสลีย์ จากมหาวิทยาลัย อีวา ในกรุงโซล ระบุว่า นี่เป็นการจัดแจงในอุดมคติเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล เพราะชาวเกาหลีเหนือกำลังตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างพวกเขากับฝ่ายใต้มากขึ้นเรื่อยๆนโยบายเพื่อการต่อต้านศัตรู เป็นการสร้างความชอบธรรมอย่างดี ให้นายคิมใช้จ่ายเงินเพื่อพัฒนาขีปนาวุธ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังยากลำบาก ภาวะอดอยากลามไปทั่วประเทศ และการตีตราเกาหลีใต้เป็นศัตรู ก็อาจช่วยสลายความขัดแย้งทางความคิด เกี่ยวกับมุมมองที่ชาวเกาหลีเหนือมีต่อชาวเกาหลีใต้ได้นายวอร์ดระบุว่า สำหรับเกาหลีเหนือ เมื่อก่อนเกาหลีใต้คือรัฐชั่วร้าย วัฒนธรรมเสื่อมทรามเกินเยียวยา แต่มีประชาชนเพื่อนร่วมชาติที่จำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อยจากรัฐบาลชั่ว แต่ตอนนี้ ทั้งประเทศและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ต่างถูกตีตราว่าชั่วร้ายทั้งหมด และสร้างความชอบธรรมให้เปียงยางในการทำลายวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ต่อไปผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรีที่มา : bbc, outlookindia
Related posts