Friday, 20 December 2024

นักชีววิทยา สหรัฐฯ เผยความจริงของขนาดฉลามเม็กกาโลดอน

เม็กกาโลดอน (Megalodon) หรือฉลามเมกะทูธ (megatooth) ฉลามยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ ๓.๖ ล้านปีก่อน มักถูกมองว่าเป็นสัตว์ประหลาดตัวยักษ์จากภาพจำในภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ เม็ก” (The Meg) ที่ออกฉายในปี ๒๕๖๑ และ “เม็ก ๒ : เดอะ เทรนช์” (Meg ๒ : The Trench) ที่เพิ่งผ่านตาไปเมื่อปี ๒๕๖๖ ซึ่งในการศึกษาก่อนหน้านี้มีข้อสันนิษฐานว่าฉลามชนิดนี้น่าจะยาวอย่างน้อย ๑๕ เมตร โดยอาจยาวได้มากสุดเกือบ ๒๐ เมตรทว่าซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของเม็กกาโลดอนส่วนใหญ่ที่มีอยู่ มักเป็นฟันและกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่ค่อนข้างไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ฉลามขาวยุคปัจจุบันเลยถูกนำมาใช้เป็นแบบอย่างของร่างกายเม็กกาโลดอนในการวิจัยก่อนหน้านี้ แบบจำลองดังกล่าวทำให้นักวิจัยสรุปได้ว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างกำยำคล่องแคล่วเหมือนฉลามขาว แต่ในการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ในสหรัฐอเมริกา ที่ตรวจสอบซากฟอสซิลของเม็กกาโลดอนอีกครั้ง โดยเปรียบเทียบฟอสซิลกระดูกสันหลังของเม็กกาโลดอนกับฟอสซิลกระดูกปลาฉลามที่มีชีวิตในยุคปัจจุบัน ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พร้อมกับเปรียบเทียบกับการสร้างกระดูกสันหลังเม็กกาโลดอนในการวิจัยครั้งก่อนๆผลการตรวจสอบพบว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างเพรียวบางกว่าที่การศึกษาก่อนหน้านี้นำเสนอไว้ แต่มันยังคงเป็นนักล่าขนาดใหญ่ที่น่าเกรงขามในห่วงโซ่อาหารทางทะเลยุคโบราณ ซึ่งรูปร่างที่เพรียวบางและยาวนั้น อาจบ่งบอกว่าเม็กกาโลดอนมีช่องทางเดินอาหารที่ยาวขึ้น และในกรณีนี้ มันน่าจะมีการดูดซึมสารอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องกินอาหารบ่อยๆอย่างที่เคยเชื่อกันมา.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่