Thursday, 19 December 2024

“สว.สมชาย” มอง คดีล้มล้างการปกครอง “พิธา-ก้าวไกล” มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง

“สว.สมชาย” มอง ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย “พิธา-พรรคก้าวไกล” กรณีล้มล้างการปกครองหรือไม่ จากนโยบายยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ยกคำวินิจฉัยก่อนหน้าเปรียบเทียบ มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๗ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ ๑) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ ๒) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยหลังไต่สวนพยานบุคคลไปเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ศาลได้นัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุม ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. กับนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา ๑๔.๐๐ น.นายสมชาย เผยถึงเหตุที่คดีนี้อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวินิจฉัยให้มีความผิด หรือให้ยุติการกระทำตามคำร้อง และอาจนำไปสู่การร้องดำเนินคดีที่หนักขึ้นในก้าวต่อไป โดยมีการยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๙/๒๕๖๔ ซึ่งมีการเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มาประกอบ โดยระบุว่า๑. คำร้องประกอบหลักฐานนั้นค่อนข้างแน่นหนา ในการชี้ให้เห็นถึงการกระทำต่างๆ ต่อเนื่อง หลังศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๙/๒๕๖๔ สั่งห้ามการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ยังปรากฏการเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่ายต่อเนื่อง อาทิ การกำหนดเรื่องการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เป็นนโยบายพรรค การเดินสายในเวทีหาเสียงต่างกรรมต่างวาระ การพูดอภิปรายในรัฐสภา การให้สัมภาษณ์สื่อไทยและต่างประเทศ มีการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อาจถูกชี้ให้เห็นว่ามีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการในหลายกรณีที่ชัดเจนต่อสถาบัน ทั้งการเสนอร่างแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่เป็นกฎหมายความมั่นคงคุ้มครองพระประมุข ๒. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๙/๒๕๖๔ ระบุถึงพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดข้ึนต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคสองด้วย แต่ยังปรากฏการกระทำดังกล่าวโดยกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองต่อเนื่องเรื่อยมา  นายสมชาย ระบุทิ้งท้าย “ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่า คำร้องของ นายธีรยุทธ พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างถึงการที่ นายพิธา และพรรคก้าวไกล กระทำการผิดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๙/๒๕๖๔ ที่สั่งการห้ามการกระทำดังกล่าวไว้แล้ว มีน้ำหนักมากที่จะทำให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในคดีนี้”