“ทัพฟ้า” เคาะตัวเลข เสนองบฯ ๑.๙ หมื่นล้าน ปี ๖๘ ซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ทดแทน นายกฯ ไฟเขียวให้อิสระ ทอ.เลือกแบบระหว่าง ๒ ค่าย คู่แข่ง “เอฟ-๑๖” กับ “กริพเพน” ย้ำระบบออฟเซตได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคืนเมื่อวันที่ ๓๐ ม.ค. ๖๗ ที่กองบิน ๗ จ.สุราษฎร์ธานี พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. เผยถึงความคืบหน้าในการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนในปีงบประมาณ ปี ๖๘ ว่า โครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณสูง และระยะเวลาในการจัดหา เตรียมการผลิตจากบริษัทขายอาวุธมากพอสมควร เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การสู้รบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทั่วโลก ทำให้มีความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์สูง ถ้าไม่วางแผนไว้ก็จะเป็นช่องว่างได้ กองทัพอากาศ จึงต้องทำหน้าที่เตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมรบ วันนี้เราอยู่อย่างสงบสุข แต่ก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลามากกว่า ๗-๑๐ ปี ในการเข้ามาประจำการหลังจากเราอนุมัติพล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า ในปัจจุบันกองทัพอากาศได้จัดทำคำของบประมาณปี ๒๕๖๘ วงเงินกว่า ๑๙,๐๐๐ ล้านบาท โดยมีเครื่องบินรบอยู่ ๒ ค่าย ที่อยู่ในข่ายการพิจารณาคือ เอฟ-๑๖ บล็อก ๗๐ สหรัฐฯ และ กริพเพนอี จากสวีเดน ในเรื่องความคุ้นเคยการใช้งานถือว่ามีประสิทธิภาพกับกองทัพอากาศทั้ง ๒ แบบ โดยขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแบบแล้ว ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีงบประมาณมากนัก ถ้าค่ายไหนให้ในสิ่งที่ตรงความต้องการ และให้ความคุ้มค่ากับเรามากที่สุดในเรื่องการดูแลปรับปรุงอุปกรณ์เก่าที่เรามีอยู่ รวมถึงการซ่อมบำรุง และการดูแลที่เราจะพัฒนาไปข้างหน้าได้ ที่ สำคัญที่สุดคือ offset policy ซึ่งเป็นเรื่องที่เราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะตกสู่ภาครัฐ โดยกองทัพอากาศพยายามใช้เจตนารมณ์นี้ ในการจัดซื้ออาวุธเพื่อให้เงินเข้าประเทศด้วย ขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญ และสนับสนุนนโยบายนี้ แต่ความต่อเนื่องและเป็นไปได้ก็คงเป็นส่วนของภาครัฐอื่นๆ ด้วยส่วนรัฐบาลจะมีส่วนในการตัดสินใจเลือกแบบด้วยหรือไม่นั้น ผบ.ทอ. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้บอกให้กองทัพตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุด ตนก็ให้คณะกรรมการคัดเลือกแบบพิจารณา ตนไม่ทราบแม้กระทั่ง TOR ซึ่งตนไม่อยากทราบ เนื่องจากตนให้สิทธิ์ให้เขาไปพิจารณาเชื่อมั่นว่า คณะทำงานที่แต่งตั้งมีความรู้ ความสามารถ ที่จะสรรหาพิจารณาสิ่งที่ที่สุดให้กับกองทัพอากาศ ยืนยันว่าไม่มีความกดดันจากที่ไหนtt ttเมื่อถามว่า ถ้าใช้หลักในการต่างตอบแทนทางเศรษฐกิจทางบริษัทของสวีเดนที่ผลิตกริพเพน จะได้เปรียบมากกว่าทางสหรัฐฯ หรือไม่ ผบ.ทอ. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการยืนยันตรงนั้น เพียงแต่เราวางมาตรฐานในเบื้องต้นไว้ แต่ถ้าถามว่า การแลกเปลี่ยนของสหรัฐฯ ก็ทุน ๓๓๓ เป็นรูปของงบประมาณที่ให้เรามาในการช่วยเหลือประชาชนสร้างโรงเรียน ซึ่งการตอบแทนเศรษฐกิจนั้นอาจจะไม่ใช่การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร แต่อาจจะเป็นการตั้งโรงงานการผลิตด้วยส่วนปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศมีผลต่อการเลือกแบบเครื่องบินไม่นั้น ผบ.ทอ. กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ แต่ต้องดูด้วยว่าเรามีพื้นฐานจากอาวุธยุทโธปกรณ์ของค่ายไหนมาก่อน ทั้งความชำนาญ คู่มือ การซ่อมบำรุง การสอน เพราะส่วนของเครื่องอุปกรณ์ถ้ามีการเปลี่ยนโดยกะทันหันจะยากต่อการสร้างใหม่ หรือก่อตั้งหน่วยใหม่ ทำให้เราต้องมาเริ่มต้นใหม่ มีผลกระทบต่อขีดความสามารถของเราโดยตรงเมื่อถามว่า ปัจจัยในการจัดหาต้องมองเรื่องความต่อเนื่องของค่ายเครื่องบินในระยะยาว ไม่ให้มีความหลากหลายแบบหรือไม่นั้น พล.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกัน กองทัพอากาศ ก็มีทั้งเครื่องบินเอฟ ๕ เอฟ ๑๖ และกริพเพน ครั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ในการพิจารณาฝูงต่อไปที่จะมาแทนฝูง ๔๐๓ หลังปี ๒๕๘๐ อาจจะเป็นเอฟ ๓๕ หรืออะไรก็ได้ หรืออาจจะเป็นเครื่องบินในเจเนอเรชันที่ ๖“ถ้าถามว่าลำบากใจหรือไม่ ก็ลำบากใจนะ แต่ผมไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ แต่เป็นการตัดสินใจร่วมของคณะกรรมการพิจารณา โดยการนำข้อมูลมาดูด้วยเหตุผล ความคุ้มค่า ณ ปัจจุบัน และอนาคต ที่เป็นห่วงคือการดำรงสภาพการบินที่มีขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง และระยะยาวในเรื่องของอายุการใช้งานการเชื่อมโยงกับระะบเก่าได้ ตรงนี้เป็นการเรื่องที่สำคัญที่สุด เราจะไม่ให้คนกองทัพอากาศผิดหวัง อย่างน้อยที่สุดประชาชนก็จะไม่ผิดหวัง โดยตอนนี้เราก็ใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นจากคอมเมนต์ต่างๆ ทางโซเชียลมีเดียประกอบด้วยลักษณะคล้ายๆ เป็นโพล” ผู้บัญชาการทหารอากาศกล่าวเมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าประชาชนจะต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ พล.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า ถ้าเราทำหน้าที่ของเราเพื่อประชาชนจริงๆ ทำความเข้าใจว่าที่เราซื้อเครื่องบินมาแล้วทำอะไรบ้าง วันนี้อาจจะไม่มีเหตุการณ์ แต่หากเกิดเหตุการณ์แล้วราไม่มีความพร้อม ประชาชนก็คงตำหนิเราเหมือนกัน ดังนั้นการได้หารือและพูดคุยก็จะทำให้เข้าใจว่า ทอ. รวมถึงเหล่าทัพอื่น มีระบบการจัดหายุทโธปกรณ์อย่างไร ในปัจจุบันมีข้อตกลงคุณธรรม โดยมีคณะกรรมการกลางเข้ามาดูแลให้คำแนะนำทั้งจากกรมบัญชีกลาง และนักวิชาการหลัก ถ้ากังวลเรื่องความไม่โปร่งใสก็ขอให้ตรวจสอบได้ แต่ถ้ากังวลเรื่องอื่นๆ ตนก็ยังไม่ทราบว่าเรื่องใด ถ้าเป็นเรื่องงบประมาณก็จะใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ขอให้คลายกังวลว่าเมื่อได้เครื่องบินมาประจำการแล้วใช้ไม่น้อยกว่า ๓๐ ปีเช่นเดียวกับยุทโธปกรณ์ที่เรามีอยู่เช่นเครื่องบินลำเลียง c-๑๓๐ ที่เราใช้มา ๔๑ ปีส่วนมหาอำนาจจะมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่นั้น พลอากาศเอก พันธ์ภักดี กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเล็ก และอยู่ตรงกลาง ซึ่งหลายประเทศก็ให้ความสนใจในเรื่องการบาลานซ์ของไทยว่าทำได้อย่างไร ซึ่งนั่นเป็นธรรมชาติของคนไทยมากกว่า คิดว่ามหาอำนาจ มิตรประเทศเข้าใจ และมีเหตุผล เพราะไม่เคยไปทำอะไรให้เกิดความหวาดระแวงหรือไม่ไว้วางใจ และตนก็ยืนยันกับมิตรประเทศว่า กองทัพอากาศไม่เคยสะสมอาวุธไปต่อสู้กับใครในรอบบ้าน แต่เราจำเป็นต้องมีเพื่อความทัดเทียมในการป้องกันตัวเอง และทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านในการปกป้องถ้าเกิดเหตุการณ์ในภูมิภาคเพราะเราต้องร่วมมือกัน อยากให้มองภาพในลักษณะของทหารที่เราเป็นรั้ว มีความเข้มแข็ง.