Sunday, 22 December 2024

กระทรวงมหาดไทยจัดทำงบปี ๖๘ "อนุทิน" กำชับวางแผนใช้จ่ายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

“อนุทิน” มอบนโยบายหน่วยงาน มท. จัดงบปี ๖๘ เน้นลงทุนโครงการใหม่ ให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาด-อากาศบริสุทธิ์ พร้อมกำหนด “อากาศสะอาด” เป็นนโยบายด้านที่ ๑๑ ย้ำสานต่อการจัดระเบียบสังคม-ประกาศสงครามยาเสพติด กำชับวางแผนใช้จ่ายงบคู่ขนานปี ๖๗-๖๘ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม๖๗ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (๒๙ ม.ค.) ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย เป็นประธานในการมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๘ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายยุทธนา สาโยชนกร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ พร้อมผู้บริหารส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานในกำกับกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมโดย นายอนุทิน กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.๒๕๖๘ ให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญ และใช้นโยบายรัฐบาลเป็นตัวตั้งต้นและเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนงาน กำหนดสัดส่วนงบประมาณสะท้อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลเป็นลำดับแรก จากนั้นทบทวนว่ามีอะไรเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เป็นพิเศษหรือไม่”ตอนนี้งบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๖๗ ยังอยู่ในกระบวนการผ่านร่างกฎหมาย และเราต้องทำงบประมาณปี ๒๕๖๘ คู่ขนานไป เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก อย่างมากก็ทุก ๔ ปี ซึ่งปีนี้เองการเปลี่ยนผ่านอยู่ในช่วงการจัดทำงบประมาณพอดี แต่ผมก็เชื่อว่าเราจะสามารถบริหารให้ดีได้ โดยในทางปฏิบัติแล้วรอบปีงบปี ๖๘ เราจะดำเนินการเป็น Dual Budget คู่ขนานระหว่างงบประมาณปี ๖๗-๖๘ เราต้องวางแผนเต็มที่ เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่ามหาศาลสำหรับกระทรวงมหาดไทย ที่ปีหนึ่งมีงบ ๓-๔ แสนล้านบาท ซึ่งปี ๖๗-๖๘ เราต้องบริหารจัดการงบประมาณ ๒ เท่าตัว หรือไม่ต่ำกว่า ๕-๖ แสนล้านบาทแน่นอน หากบริหารจัดการให้ดีจะช่วยประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้ประชาชนด้วย” นายอนุทิน กล่าวรมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขอเน้นย้ำเป็นนโยบายว่า การจัดทำงบประมาณปี ๖๘ ของทุกหน่วยงานขอให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมามองหาจุดที่จะปรับปรุงได้ แล้วจะจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนต่างๆอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายประจำ รายจ่ายที่เป็นการลงทุนสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือรายจ่ายเพื่อการศึกษาและพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ อาจช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ๆได้ และประสบการณ์เดิมที่ท่านมีอยู่ ก็จะช่วยกลั่นกรองความเป็นไปได้ ทำให้เกิดเป็นแผนงาน ที่ทั้งสร้างสรรค์และรอบคอบไปพร้อมกันทั้งนี้ ขอทบทวนแผนงานให้สอดคล้องกับ ๑๐ นโยบายหลัก ที่ผมได้ให้นโยบายไว้เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งบางส่วนได้เริ่มไปแล้วละต้องสานต่อให้เกิดความต่อเนื่อง ได้แก่ ได้แก่ ๑.การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ ๒.การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ๓.การลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของทุกส่วนราชการ ๔.ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ๕.การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ๖.การบริการประชาชนแบบ One Stop Service ๗.การอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวหลังโควิด ๘.การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจำหน่าย ๙.การแก้ไขปัญหายาเสพติด ๑๐.สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเตรียมความพร้อมท้องถิ่นรองรับสังคมผู้สูงอายุ”ด้วยสถานการณ์ด้านสภาพอากาศในปัจจุบัน ผมขอให้เราได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอากาศสะอาด ด้วยการลดมลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันพิษ PM ๒.๕ การป้องกันไฟป่า ลดการเผาป่าและพื้นที่การเกษตรในที่โล่งแจ้ง ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้กลไกของตนเองสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว ด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๘ และขอเพิ่มเรื่องอากาศสะอาด เป็นนโยบายด้านที่ ๑๑ ของกระทรวงมหาดไทย” นายอนุทิน กล่าวรมว.มหาดไทย กล่าวว่า พร้อมกันนี้ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาทรัพยากร ที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ ทั้งผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และอาสาสมัครต่างๆ ต้องพัฒนาให้มีศักยภาพสูงมีแรงจูงใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ทุกคนได้มีทั้งความสุข มีกำลังใจ และความสนุกในการทำงานเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน ตลอดจนให้ความสำคัญกับ ๓ มิติในการทำงาน คือ คำนึงถึงเป้าหมาย หน้าที่และพื้นที่ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หลังจาก รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย มอบนโยบายแล้ว ผู้แทนสำนักงบประมาณได้ชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๘ จากนั้นหน่วยงานต่างๆ รวม ๑๒ หน่วยงาน ได้ชี้แจงถึงวงเงินและโครงการสำคัญ ที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๘ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, กรมที่ดิน, กรมการพัฒนาชุมชน, กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมการปกครอง, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา, การประปานครหลวง, การประปาส่วนภูมิภาค, และ องค์การจัดการน้ำเสีย