Friday, 15 November 2024

“ปิยบุตร” วิจารณ์คำวินิจฉัยศาล รธน. คลุมเครือ แนะสภาโต้กลับแก้กฎหมายลดอำนาจศาล(คลิป)

เลขาธิการคณะก้าวหน้า วิจารณ์ ๖ ข้อ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แจงยิบไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินวันนี้ ชี้คลุมเครือ มองต่อไปจะเข้ามาแทรกแซงนิติบัญญัติได้ทุกเมื่อ ยันช่วงหาเสียง ก้าวไกล ไม่ได้ชูธงแก้ ม.๑๑๒ แนะสภาโต้กลับแก้ รธน.เรื่องขอบเขต ลดอำนาจศาลวันที่ ๓๑ ม.ค. ๒๕๖๗ เมื่อเวลา ๑๙.๐๐ น. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ไลฟ์สด “แถลงการณ์วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย นโยบายหาเสียงแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ห้ามพูด-เขียน-พิมพ์-โฆษณา และไม่ให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าวในอนาคตโดย นายปิยบุตร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยและคำบังคับของคำวินิจฉัยฉบับนี้ การแสดงความไม่เห็นด้วยและข้อวิจารณ์ต่างๆ นั้น เป็นการใช้เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่หยาบคาย ไม่เสียดสี ไม่อาฆาตมาดร้าย ซึ่งไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลแต่ประการใด โดยตนเองมีข้อวิจารณ์ ๖ ประเด็น คือ ๑. การที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ถือเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีระบบในรัฐธรรมนูญรองรับอยู่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเรื่องการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ มาปะปนกับการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๙ ย่อมส่งผลทำให้ดุลยภาพทางนิติบัญญัติและศาลรัฐธรรมนูญ หากปล่อยต่อไปศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสแทรกแซงขัดขวางกระบวนการทางนิติบัญญัติได้ ทั้งๆ ที่การตรวจสอบทางกฎหมายมีกลไกอยู่แล้ว และจะกลายเป็นผู้แทรกแซงทุกขั้นตอนของกระบวนการนิติบัญญัติจนกระทบกับระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยประเด็นที่ ๒ การแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ของพรรคก้าวไกลไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง การที่ศาลระบุว่าการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ของพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครองที่ให้สำนักพระราชวังร้องทุกข์กล่าวโทษได้ถือว่าเป็นการลดฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์ลงให้เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนนั้น ตนเองเห็นต่างในเรื่องนี้เพราะหากปล่อยให้เป็นอยู่เหมือนทุกวันนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการกลั่นแกล้งกัน ใครร้องทุกข์ก็ได้ ทางแก้คือสามารถให้หน่วยงานอื่นทำหน้าที่แทนสำนักพระราชวังได้  ส่วนประเด็นที่ ๓ เรื่องที่พรรคก้าวไกลนำนโยบายนี้มาหาเสียงนั้น ศาลต้องดู ๒ เรื่อง คือการเสนอร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เข้าสภา และการรณรงค์หาเสียง ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่ศาลกลับนำเอา การชุมนุม การร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง เป็นนายประกัน และสมาชิกพรรค และ สส.พรรค แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ และ สส.ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา ๑๑๒ และ เรื่องการติดสติกเกอร์ของ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาเป็นเหตุว่าล้มล้างการปกครองประเด็นที่ ๔ การวางตัวอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางแก้คือต้องออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้มีการมองว่าสถาบันฝักฝ่ายใดฝักฝ่ายหนึ่ง เพราะมีกลุ่มก้อนต่างๆ นำสถาบันมาโจมตีอีกฝ่าย พรรคก้าวไกลจึงต้องการป้องกันเรื่องนี้จึงเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ แค่ศาลกลับมองว่า พรรคก้าวไกลเป็นคนนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มารณรงค์หาเสียง “ตลอดการรณรงค์หาเสียง พรรคก้าวไกล แทบไม่ได้ชูธงการแก้ มาตรา ๑๑๒ แต่เกิดขึ้นจากการตั้งเวทีดีเบตจากสื่อมวลชน จากกลุ่มองค์การต่างๆ ที่เป็นคำถามจากประชาชน ที่บังคับให้พรรคการเมืองตอบ ไม่ใช่ริเริ่มมาจากพรรคก้าวไกล ขณะที่การหาเสียงมีหลายพรรคก็เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๑๑๒”ประเด็นที่ ๕ วันนี้ ยังไม่มีการเสนอแก้มาตรา ๑๑๒ และพิจารณาในสภา ดังนั้น จะอนุมานว่าเป็นการล้มล้างการปกครองได้อย่างไร ทั้งที่สถาบันกษัตริย์ยังมีอยู่ ประการที่ ๖ เรื่องคำบังคับ สั่งการให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการพิมพ์ การพูด การ เขียนและ โฆษณา อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย จึงถามว่าสั่งไปที่ใคร สิ้นสุดเมื่อไหร่ เพราะคำสั่งนี้ยังคลุมเครือซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง คือ ต่อไปศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ อำนาจตาม ม.๔๙ เข้าแทรกแซงนิติบัญญัติได้ทุกเมื่อ จะกลายเป็นองค์กรชี้เป็นชี้ตายในทุกๆ สถาบันทางการเมือง และอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง รวมถึงเป็นการปิดประตู ในประเด็นปัญหาของมาตรา ๑๑๒ ที่จะไม่มีโอกาสมาผลักดันได้ในสภา และจะทำให้คนไม่แน่ใจว่าแก่นแท้ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างคำว่าระบอบประชาธิปตย และคำว่าอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สุดท้าย ผลกระทบต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้จะเปิดทางให้บรรดานักร้องรับลูกไปร้องต่อ ทั้งการร้องไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคก้าวไกล และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ  ป.ป.ช. ส่งไปยังศาลฎีกา ว่า บรรดา สส.ของพรรคก้าวไกล ดำเนินความผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตนายปิยบุตร ยังกล่าวว่า ตนเองมีข้อเสนอว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งห้ามแก้โดยเด็ดขาด แต่สั่งพรรคก้าวไกลห้ามยกเลิก และห้ามแก้โดยวิธีการซึ่งมิใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบได้ ดังนั้น หากต้องทำตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การแก้ ๑๑๒ ยังพอทำได้อยู่ เพียงแต่แก้เพื่อย้ายหมวด แก้เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ แก้ให้เป็นความผิดยอมความ และกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ได้ นั่นหมายความว่า การแก้มาตรา ๑๑๒ เพื่อลดโทษสามารถทำได้ และการแก้ไม่มีโทษขั้นต่ำ แก้เพื่อแยกฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ออกจากกันได้ รวมถึงแก้เรื่องกำหนดให้หน่วยงานของรัฐสักหน่วยงานหนึ่งที่มิใช่สำนักพระราชวัง ทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษได้นอกจากนี้ นายปิยบุตร ยังกล่าวว่า สามารถคุมกรอบอำนาจมาตรา ๔๙ ให้ชัดได้ โดยให้สภาโต้กลับด้วยการคุมเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องศาลรัฐธรรม เพื่อลดอำนาจหน้าที่ของศาล หรือยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญให้องค์กรทำหน้าที่แทน ซึ่งหลายประเทศก็ทำแล้ว นายปิยบุตร ยังเชิญชวนประชาชนนำความเจ็บปวดและผิดหวังกับคำวินิจฉัยในวันนี้ ออกไปใช้แสดงพลังผ่านการใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะถึงนี้ โดยให้เลือกตัวแทนของพรรคก้าวไกลให้ถล่มทลาย ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหน้าไม่ว่าพรรคไหนจะมาทำหน้าที่แทนพรรคก้าวไกล ให้ประชาชนเก็บความเจ็บแค้น เก็บความไม่พอใจ ไประเบิดในการเลือกตั้งให้ถล่มทลายเช่นเดียวกัน ให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เพื่อยืนยันว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย