ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการพม.แถลงข่าวการขับเคลื่อนงานของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ถึงสถานการณ์ความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ว่า ศรส.พบสาเหตุของความรุนแรง มีอยู่ ๖ ประเด็น ได้แก่ ๑.ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งจะเกิดเป็นภาวะป่วยทางจิตขึ้นมา ๒.ครอบครัว ขาดการเอาใจใส่กับเด็กและเยาวชน ขาดการชี้นำหรือการสั่งสอนที่ถูกต้องจากคนในครอบครัว ๓.สิ่งแวดล้อมในชุมชนที่เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าไปพัวพันกับอบายมุข หรือยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย ๔.รายได้และความเป็นอยู่ของครอบครัวของเด็กและเยาวชน ซึ่งพอมีความยากจน มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จะเกิดความล่อแหลมที่จะทำผิดง่ายๆในการทำสิ่งผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดีในท้ายที่สุด ๕.ในสถานศึกษามีการบูลลี่ ทั้งทางกาย วาจา และไซเบอร์ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ๖.การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด เกมออนไลน์ ซึ่งจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จึงขอฝากสื่อมวลชนจำกัดรายละเอียดของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ แต่ไม่ได้จำกัดการนำเสนอข่าวนายวราวุธกล่าวว่า สำหรับประเด็นข้อกฎหมาย ขณะนี้มี ๓ ฉบับที่ พม.ขอให้คณะกรรมการกฎหมายเร่งดำเนินการ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งในปลายปี ๒๕๖๗ จะมีการประชุมสำคัญระดับโลก ที่ประเทศโคลอมเบีย เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในครอบครัว โดยจะเร่งทำให้สำเร็จภายในปีนี้ ทั้งนี้ พม.ตั้งเป้าหมายไว้ภายในไตรมาสที่ ๒ ของปี เพื่อที่จะได้เข้าสู่กระบวนการผ่านทางคณะรัฐมนตรี และประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นปลายปี ๒๕๖๗ ประเทศไทยจะได้กล่าวบนเวทีโลกว่า เรามีกฎหมายคุ้มครองการกระทำความรุนแรงกับบุคคลในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีอนุบัญญัติกฎหมายรอง กว่า ๑๐ ฉบับ ที่กำลังเร่งดำเนินการ นอกจากนี้ วันที่ ๗ มีนาคมนี้ พม.จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนา และเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเรื่องปัญหาโครงสร้างประชากร ที่ศูนย์สิริกิติ์ โดยมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างประชากร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สื่อมวลชน เข้าร่วม เพราะไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบแล้ว วัยแรงงานลดลง จึงต้องร่วมมือกันหาทางออกให้กับประเทศไทย. อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
ชี้ ๖ สาเหตุเด็ก-เยาวชนก่อเหตุรุนแรง วอนสื่อไม่เสนอรายละเอียดเหตุการณ์
Related posts