กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกหยิบยกมาพูดกันไปต่างๆนานาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องรัฐ “เท็กซัส” ของสหรัฐอเมริกา อาจแยกตัวเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางอีกต่อไปมีการนำประเด็นข่าวหลายๆเหตุการณ์มาปะติดปะต่อกัน จนภาพสถานการณ์ดูน่าวิตกกังวล โดยเฉพาะเรื่องที่ว่ากลุ่มผู้ว่าการรัฐขั้วพันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน “รีพับลิกัน” ประกาศพร้อมใช้งานทหารหน่วยป้องกันประเทศ “แนชนัล การ์ด” ที่จะประจำการอยู่ในรัฐต่างๆ เพื่อสนับสนุนรัฐเท็กซัสในการรับมือกับปัญหา “พรมแดน” ที่กำลังทำให้เท็กซัส “ขัดแย้ง” รุนแรงกับรัฐบาลกลางพ่วงมาด้วยประวัติศาสตร์ของรัฐเท็กซัสเองก็มีความเป็น “ตัวตน” สูงกว่ารัฐอื่นๆ เคยแยกตัวเป็นเอกราชจากเม็กซิโก เคยถือครองสถานะ “สาธารณรัฐเท็กซัส” ที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง เคยเข้าร่วมกับ “ฝ่ายใต้” ต่อสู้กับรัฐบาลในสงครามกลางเมืองอเมริกัน และหากใครเคยทำความรู้จักกับชาวเท็กซัสก็คงได้สัมผัสกับความภาคภูมิใจในความเป็นชาวเท็กซัสมากกว่าคนที่มาจากรัฐอื่นๆทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นไม่ได้มีอะไรในกอไผ่ และเป็นเพียง “ส่วนประกอบ” ของเกมการเมืองสหรัฐฯในปีเลือกตั้งประธานาธิบดี ๒๕๖๗ ที่พรรคฝ่ายค้านรีพับลิกันกับพรรครัฐบาลเดโมแครตแข่งกันทำคะแนนอย่างหนัก เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนกระนั้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐเท็กซัสกับรัฐบาลกลางของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และยังไม่สามารถหาทางคลี่คลายได้แต่อย่างใดจนเกิดการต่อสู้ “งัดข้อ” กันหลายระดับชั้นไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ทางรีพับลิกันขัดขวางการผ่านร่างงบประมาณความมั่นคงก้อนโตในสภาคองเกรสให้กับยูเครน เนื่องด้วยรัฐบาลเดโมแครตไม่ให้ความชัดเจนในเรื่องความมั่นคงพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ที่ผู้อพยพพยายามไหลบ่าเข้ามาวันละหลักพันถึงหลักหมื่นคน หรือกระทั่งการฟ้องร้องกันระหว่างหน่วยงานประจำรัฐกับหน่วยงานรัฐบาลกลาง หลังเกิดกรณีล้ำเส้น และปฏิบัติหน้าที่ทับซ้อนกันในการดูแลพื้นที่พรมแดนสำหรับรัฐเท็กซัสนั้น ถือเป็นฐานเสียงหลักของพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกันที่กำลังเผชิญผลพวงจากนโยบายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยทางสถาบันคลังสมองซีเอทีโอของสหรัฐฯ อธิบายว่าในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯกำลังต้องการ “แรงงานไร้ฝีมือ” จำนวนมากสำหรับงานด้านต่างๆที่ไม่ใช่การเกษตร ในอัตราเฉลี่ย ๑๐.๔ ล้านตำแหน่งในแต่ละเดือน ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศละตินอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้ค่าแรงการเข้ามาทำงานในสหรัฐฯสูงกว่าที่ประเทศบ้านเกิด ๔-๑๐ เท่าtt ttแรงจูงใจทางการเงินประกอบกับความหวังที่จะมีโอกาสย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในดินแดนที่ถูกมองว่า “ดีกว่า” บ้านเกิดภูมิลำเนา จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้มุ่งเป้าไปหาโอกาสในสหรัฐฯ เพียงแต่อุปสรรคสำคัญคือ “ความยุ่งยาก” ของการเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายสหรัฐฯยกตัวอย่างการเดินเรื่องขออนุญาตอพยพเข้าสหรัฐฯเพื่อมาอยู่อย่างถาวร จะต้องผ่านเงื่อนไขพื้นฐานด้านความเหมาะสมทางสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ความมั่นคง หากครบถ้วนตามเงื่อนไขขั้นแรกก็จะเจอกับเงื่อนไขขั้นสองว่าเข้าข่ายรับเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ หากไม่ผ่านก็จะพบกับด่านที่สามการสุ่มลอตเตอรี่ตามโควตาความหลากหลายทางเชื้อชาติ ก่อนนำไปสู่ด่านอื่นๆไม่ว่าเงื่อนไขทางการเงิน มีใครเป็นสปอนเซอร์ ครอบครัวหรือตัวเองมีเงินพอหรือไม่ ไปจนถึงทักษะการทำงานอีกมากมาย ก่ายกองตัวอย่างดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้คนจำนวนมาก “หลีกเลี่ยง” ที่จะเข้าถูกช่องออกถูกทาง ใช้วิธีไปตายเอาดาบหน้า เข้าแดนพญาอินทรีตามช่องทางธรรมชาติ หรือใช้การ “จ่ายเงิน” ว่าจ้างแก๊งอาชญากรรมมาเฟียไปส่งที่พรมแดนตรงจุดที่เชื่อกันว่าเข้าง่ายที่สุด หรือมีการตัดรั้วเจาะช่องทางเตรียมไว้แล้วจากข้อมูลของสำนักงานตรวจตราพรมแดน (ซึ่งขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางสหรัฐฯ) ระบุว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ เจ้าหน้าที่ตรวจพบการข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายกว่า ๖.๓ ล้านครั้ง โดยมิได้ระบุว่าแต่ละครั้งมีคนจำนวนเท่าไร และมีหลุดเข้าเมืองไปบ้างหรือไม่ ขณะที่กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีคนต่างด้าวผิดกฎหมายที่เล็ดลอดการจับกุมของเจ้าหน้าที่และเข้ามาในสหรัฐฯมากกว่า ๑.๖-๑.๘ ล้านคน ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาจนเป็นบ่อเกิดของความไม่พอใจจากรัฐเท็กซัสว่า สำนักงานตรวจตราพรมแดนของรัฐบาลกลางทำงานอะไรกันอยู่? ถึงได้มีคนต่างด้าวเข้ามาในรัฐเท็กซัสมากขึ้นเรื่อยๆ (คิดเป็นสัดส่วนเกือบ ๖๐% ของการข้ามพรมแดนสหรัฐฯทั้งหมด) ก่อนตัดสินใจลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สั่งปฏิบัติการ “โลน สตาร์” เคลื่อนหน่วยป้องกันประเทศ “แนชนัล การ์ด” ประจำรัฐเท็กซัส กระจายกำลังตามพรมแดน พร้อมขึงรั้วลวดหนามสกัดกั้นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และทำให้เกิดประเด็น “ล้ำเส้น” กับหน่วยงานของรัฐบาลกลางและกลายเป็น “วาทกรรมการเมือง” ของนายเกรก แอบบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ที่บอกว่า “รัฐบาลกลางได้ทำลายความแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับเท็กซัส สถานการณ์ในรัฐเท็กซัสเพลานี้เปรียบได้กับการถูกรุกราน จึงทำให้รัฐเท็กซัสมีสิทธิในการป้องกันตัวเอง แม้ว่าจะต้องขัดขืนอำนาจของรัฐบาลกลางก็ตาม” ซึ่งเป็นที่มาของการจุดประเด็น “รัฐเท็กซัสจะแยกตัวจากสหรัฐฯ”.วีรพจน์ อินทรพันธ์คลิกอ่านคอลัมน์ “๗ วันรอบโลก” เพิ่มเติม
ปัญหาพรมแดนรัฐเท็กซัส ที่มาของวาทกรรมแยกตัว
Related posts