Sunday, 22 December 2024

มิเชล โอนีล ฝ่ายชาตินิยมคนแรก รับตำแหน่งผู้นำไอร์แลนด์เหนือ

มิเชล โอนีล สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักการเมืองฝ่ายชาตินิยมคนแรกที่รับตำแหน่งผู้นำไอร์แลนด์เหนือ หลังจากพวกเขาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้มานานร่วม ๒ ปีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ ก.พ. ๒๕๖๗ น.ส.มิเชล โอนีล จากพรรค ‘ซินน์เฟน’ (Sinn Féin) ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร หรือรัฐมนตรีลำดับ ๑ (First Minister) ของรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือแล้ว สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักการเมืองฝ่ายชาตินิยมคนแรกของประเทศที่ได้รับตำแหน่งนี้ในแถลงการณ์รับตำแหน่งต่อหน้าเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร น.ส.โอนีลกล่าวว่า วันนี้เป็นคือการเปิดประตูสู่อนาคต และให้คำมั่นว่า เธอจะรับใช้ทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารสำหรับทุกคน รวมถึงผู้ที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายบริติช (British) และฝ่ายกลุ่มสหภาพ (Unionist)“ฉันจะทุ่มแทอย่างเต็มที่ในการทำงานเพื่อความปรองดองระหว่างประชาชนของเราทุกฝ่าย อดีตไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือย้อนคืนได้ แต่เราสามารถสร้างอนาคตที่ดีว่าได้” น.ส.โอนีลกล่าวทั้งนี้ น.ส.โอนีลถูกวางตัวให้รับตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ แล้ว หลังจากพรรคซินน์เฟนชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมและคว้าเสียงข้างมาก แต่พรรคกลุ่มสหภาพประชาธิปไตย (DUP) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหลัก ปฏิเสธที่จะจัดตั้งรัฐบาลแบ่งอำนาจ เพื่อประท้วงกฎการค้าหลังแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิต (Brexit)การที่พรรค DUP ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพ ไม่ยอมเสนอชื่อรองหัวหน้าคณะผู้บริหาร น.ส.โอนีลล์และพรรคซินน์เฟนก็เข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้อย่างไรก็ตาม DUP ทำข้อตกลงกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (๑ ก.พ.) บรรเทาความกังวลเกี่ยวกับกฎการค้าหลังเบร็กซิตของพวกเขา ปูทางไปสู่การยุติภาวะชะงักงันทางการเมืองของไอร์แลนด์เหนือ ที่ดำเนินมานานร่วม ๒ ปีทั้งนี้ นอกจาก น.ส.โอนีลแล้ว ประธานรัฐสภาก็สาบานตนรับตำแหน่งด้วย เช่นเดียวกับ น.ส.เอ็มมา ลิตเติล-เพนเจลลี ซึ่งรับตำแหน่งรองรัฐมนตรีลำดับ ๑ ซึ่งมีอำนาจแบบเดียวกับรัฐมนตรีลำดับ ๑อนึ่ง ไอร์แลนด์เหนือเคยตกอยู่ในช่วงเวลาความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ‘The Troubles’ ระหว่างฝ่ายไอริชคาทอลิกซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ที่ต้องการแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อไปรวมกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ กับฝ่ายอังกฤษโปรเตสแตนต์ หรือฝ่ายสหภาพ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไปความขัดแย้งดำเนินมานานหลายสิบปี เกิดความรุนแรงน้อยใหญ่หลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งมีการทำข้อตกลง Good Friday Agreement ในปี ๒๕๔๑ ซึ่งกำหนดให้ชุมชนทั้งสองฝ่ายมีอำนาจเท่าเทียมกันในรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ทำให้เหตุความรุนแรงสิ้นสุดลง แต่ความไม่ลงรอยกันยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreignที่มา : cnn