Sunday, 19 January 2025

ย้ายอุเทนถวายจบในรัฐบาลนี้

05 Feb 2024
152

แผนการย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มจะสำเร็จเป็นรูปธรรม หลังจากที่คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีคำสั่งไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ให้งดรับนักศึกษาปี ๑ ในปีการศึกษา ๒๕๖๗ เพื่อลดปริมาณนักศึกษา เป็นก้าวแรกของแผนย้ายอุเทนถวายซึ่งคาดว่าจะทำเสร็จภายในรัฐบาลนี้เมื่อไม่รับนักศึกษาใหม่เข้ามาเพิ่ม การย้ายสถานศึกษาไปเรียนในวิทยาเขตอื่นก็ง่ายขึ้น ไม่เกิน ๔-๕ ปีจบ ถือว่าเป็นการให้เวลาที่เหมาะสมในช่วงเปลี่ยนผ่าน และนักศึกษาอุเทนถวายก็ไม่ได้เยอะมาก ถ้าอธิการบดีบริหารจัดการโดยใช้ศาสตร์และศิลป์ อาจกระจายย้ายนักศึกษาไปใช้สถานที่เรียนในวิทยาเขตอื่นได้หมดภายในปีสองปี หรือหากต้องการย้ายทั้งสถาบันไปอยู่ที่ใหม่ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว หลายปีก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเจรจาจัดหาสถานที่ตั้งใหม่แถว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการอว. คุณศุภมาสใช้ความละมุนละม่อมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมกำหนดแนวทาง ทั้งทางสถาบันอุเทนถวาย ศิษย์เก่า สำนักงานอัยการสูงสุด กรมธนารักษ์ สำนักงบประมาณ และจุฬาฯเจ้าของสถานที่ แต่ครั้นจะอ่อนปวกเปียกทอดเวลาไปเรื่อยๆก็คงวนลูปเดิม ไร้แผนปฏิบัติชัดเจนในที่สุดคุณศุภมาสได้ตัดสินใจเดินหน้าจริงจัง สั่งอธิการบดีงดรับนักศึกษาปี ๑ เริ่มนับหนึ่งย้ายพื้นที่อุเทนถวาย เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหานักศึกษาอุเทนถวายยกพวกตีกับสถาบันคู่อริ ที่เกิดความสูญเสียบาดเจ็บและเสียชีวิตทุกปี นับเป็น รัฐมนตรีหญิงที่กล้าหาญในการตัดสินใจ ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากความเป็นมาของข้อพิพาทที่ดินระหว่างจุฬาฯกับอุเทนถวายเกิดขึ้นหลายสิบปีแล้ว เมื่อปี ๒๔๗๘ อุเทนถวายทำสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาฯเป็นเวลา ๖๘ ปี หลังครบกำหนดสัญญา จุฬาฯไม่ต่อสัญญา มีการทำบันทึกข้อตกลงให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนภายในเดือน กันยายน๒๕๔๘ ต่อมาในปี ๒๕๔๘ มีการทำบันทึกข้อตกลงอีกให้ย้ายอุเทนถวายไปก่อสร้างใน จ.สมุทรปราการ แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงได้ นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีทางแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งมีมติให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่ พร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาฯกว่า ๑.๑ ล้านบาทต่อปีอย่างไรก็ตามอุเทนถวายดื้อแพ่งมาตลอด ก่อนยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อปี ๒๕๕๖ แต่ศาลปกครองกลางยกฟ้อง โดยระบุว่าจุฬาฯคือผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมติของ กยพ.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอุเทนถวายได้ยื่นอุทธรณ์ กระทั่งวันที่ ๑๐ ธันวาคม๒๕๖๕ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางในแง่ข้อกฎหมาย ปัญหาพิพาทได้ข้อสรุปแล้ว เมื่อศาลสูงมีคำพิพากษา ผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นอาจถูกฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ในแง่ปัญหาสังคม ต้องยอมรับว่านักศึกษาอุเทนถวายยกพวกตีกับสถาบันคู่อริ จนเรียกได้ว่ากลายเป็นประเพณีไปแล้ว ทั้งๆที่นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นเด็กดี ตั้งใจเล่าเรียนให้จบเพื่อไปทำงานหาเลี้ยงชีพ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกชักจูงปลุกฝังความเชื่อแบบผิดๆไปก่อเรื่องก่อราวจนเป็นที่เอือมระอาแก่สังคมและผู้คนบริเวณนั้นความสูญเสียมีทุกปี รายล่าสุดเป็นการเสียชีวิตของ “น้องเร” นศ.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ย้อนไปเมื่อปลายปี ๖๖ “น้องหยอด” นศ.อุเทนถวาย ก็ถูกยิงเสียชีวิต และ “ครูเจี๊ยบ” ครูโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ โดนลูกหลงเสียชีวิตไปด้วย ถ้ายังซื้อเวลาไม่รีบแก้ปัญหา ก็ไม่รู้ต้องสังเวยอีกกี่ชีวิตการย้ายอุเทนถวายไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้มีคำพิพากษาศาลสูงแล้ว แต่ยังมีอำนาจมืดและแรงต้านที่มองไม่เห็น ถึงได้คาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน ผมอยากให้ทุกฝ่ายส่งแรงใจและสนับสนุน รัฐมนตรีศุภมาสให้ย้ายอุเทนถวายได้สำเร็จตามแผนด้วยครับ.ลมกรดคลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม