Thursday, 19 December 2024

ป.ป.ช.ยังไม่มีหนังสือมา “ภูมิธรรม” ฝากคนค้านเงินดิจิทัล นึกถึงวิกฤติต้มยำกุ้ง

“ภูมิธรรม” เผย ยังไม่มีหนังสือจาก ป.ป.ช. เรื่องความเห็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มาถึงรัฐบาล ต้องเดินหน้าต่อเพราะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว พร้อมฝากคนค้าน นึกถึงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อเวลา ๑๒.๓๐ น. วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะมีการนัดหารือกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในวันนี้ จะมีข้อสรุปหรือไม่ ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องรีบดำเนินการทันที คิดว่านายกรัฐมนตรีคงจะหารือกับ นายจุลพันธ์ ก่อนค่อยมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า ยังต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่หรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุ เรายังไม่ทราบว่า ป.ป.ช. จะมีข้อเสนออะไรหรือไม่ ก็ต้องดำเนินการตามที่ว่าไป แต่หากเป็นไปตามเอกสารที่เคยปรากฏในสื่อก่อนหน้านี้ ถือเป็นข้อมูลสำรอง เพราะไม่ใช่เรื่องที่เรากระทำผิดและถูกร้องให้หยุดการกระทำ เมื่อถามย้ำ ต้องขอความเห็น ป.ป.ช. หรือไม่ว่า ความเห็นนั้นจริงหรือไม่ หรือรัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปเลย นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณโดยตรงมาถึงเรา หากเราไปถามทุกหน่วยงานก่อนก็จะมีปัญหา เราก็ดำเนินการไป แต่หากในระหว่างที่เราดำเนินการแล้วมีหนังสือมา เราก็ยังยืนหยัดที่จะทำ เหมือนอย่างตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นมาแล้ว หากถึงตอนที่เราสรุปกระบวนการทุกอย่าง แล้ว ป.ป.ช.ยังไม่มีหนังสือมา ต้องถือว่าเรายังไม่ได้รับหนังสือส่วนคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตในสัปดาห์นี้ นายภูมิธรรม เผยว่า จะประชุมให้เร็วที่สุด เรื่องนี้เราไม่ได้รอช้า เป็นภาระที่เราแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว เราต้องดำเนินการ และรวบรวมความเห็นของแต่ละหน่วยงาน แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ ขอให้รอดูว่าจะปฏิบัติได้เมื่อไหร่ และอย่างไรจะดีกว่า หากถามแบบนี้ต่อคำตอบก็เป็นเหมือนเดิม ขณะที่ประเด็นกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขเงินเฟ้อว่าติดลบ ๑ เปอร์เซ็นต์ (-๑%) เป็นเดือนที่ ๔ ติดต่อกัน สะท้อนเศรษฐกิจอย่างไรนั้น นายภูมิธรรม ตอบประเด็นนี้ว่า เวลานี้เรายังอยู่ในช่วงวิกฤติอยู่ ยังไม่ขึ้นมาจากศูนย์ เพราะฉะนั้นสถานการณ์เป็นอย่างนี้ เผยให้เห็นว่ายังมีวิกฤติหลายเรื่อง สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือวิกฤติทางการเงิน เพราะเคยส่งผลกระทบกระเทือนมาแล้ว อย่างในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี ๒๕๔๐ พอเรารู้เข้าก็พังทลายทั้งระบบ และเท่าที่ดูนักการเงินก็เป็นห่วงเรื่องนี้ และดูได้จากปัญหาหุ้นกู้ “ยืนยันว่าหากปล่อยให้เรื่องนี้จนเกิดวิกฤติขึ้นอย่างในช่วงต้มยำกุ้ง จะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศ อยากให้ทุกคนที่อยากจะต่อต้านการกระทำของรัฐบาล ให้คำนึงถึงจุดนี้ด้วย นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่าถ้าไม่ทำอะไรตอนนี้เลย โอกาสที่จะเกิดต้มยำกุ้งจะตามมา หน่วยงานต้องดูว่าการคาดการณ์นี้น่าเชื่อถือหรือไม่ และหากเป็นจริงจะเกิดอะไรขึ้น หากมากเกินกว่าจะเสี่ยงได้ ก็ต้องตัดสินใจในทางที่ทำไป แต่หากยังคัดค้านกันอีกก็ไม่ว่ากัน ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความเห็น แต่หากเกิดเหตุการณ์เลวร้าย ก็อยากให้คนที่คัดค้านรับผิดชอบ”.