Sunday, 19 January 2025

สุดเวทนา ด.ช.๔ ขวบแผลทั้งตัว พ่อเลี้ยงจี้ด้วยบุหรี่ แม่รู้เห็นเป็นใจ 

11 Feb 2024
173

กัน จอมพลัง พร้อมตำรวจ สก.เขตคลองสามวา เจ้าหน้าที่พม. รุดช่วย ด.ช.๔ ขวบ โดนพ่อเลี้ยงทำร้าย จี้ด้วยบุหรี่ มีแผลพุพองทั่วตัวน่าเวทนา ส่วนแม่ “รู้เห็นเป็นใจ” เบื้องต้นรับดูแลที่บ้านพักเด็ก และประเมินว่าเด็กควรอยู่กับครอบครัวหรือไม่เวลา ๑๕.๔๐ น. วันที่ ๑๑ ก.พ. ๖๗ นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง พร้อมด้วย น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา, นายเรืองศักดิ์ กลับเนียม เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, พ.ต.ท.อภิชนฌาณ ครามสูงเนิน รอง ผกก.ป.สถานีตำรวจนครบาลคันนายาว และ พ.ต.ต.โพชชง เสืองาม สารวัตรปราบปรามสถานีตำรวจนครบาลคันนายาว เดินทางไปยัง ชุมชนริมคลองหนองระแหง ถนนหนองระแหง แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กทม. เพื่อรับตัว ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ ๔ ขวบ ที่ถูกพ่อเลี้ยงทำร้าย โดยรับตัวดูแลที่บ้านพักเด็ก และนำไปตรวจร่างกาย นางบุญเพ็ง อายุ ๔๙ ปี พลเมืองดีที่แจ้งขอความช่วยเหลือ กล่าวว่า ตนเห็นรอยแผลรอยช้ำตามร่างกายของเด็กบ่อยครั้ง พอถามว่าใครทำ เด็กบอกว่า “ป๊ะป๋าตี” และถูกบุหรี่จี้ตามร่างกาย ตอนแรกไม่อยากยุ่ง กลัวไปยุ่งเรื่องครอบครัว แต่ด้วยความที่สงสารเด็ก จึงประสานประธานชุมชนเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเวลาที่เด็กอยู่กับแม่จะมีพฤติกรรมที่ปกติดี แต่พออยู่กับพ่อเลี้ยง เด็กจะมีอาการหวาดกลัว นายกัณฐัศว์ กล่าวว่า หากเหตุการณ์ดังกล่าวมีแม่เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจ จะเข้าข่ายเป็นผู้ให้การสนับสนุนหรือไม่ หากใช่ ต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน พร้อมกับตัวพ่อที่ลงมือทำร้ายเด็ก ตนได้พูดคุยกับทางบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร ว่า ให้รับตัวของเด็กไว้เลย ในส่วนของทางคดีตนจะประสานกับทาง ผกก.สถานีตำรวจนครบาลคันนายาว ให้ทำการสอบสวนฝ่ายแม่ และเด็กไว้เบื้องต้น โดยมีการประสานฝ่ายพ่อผู้ทำร้ายเด็กให้มาให้ปากคำ เบื้องต้นพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำผิดในการทำร้ายร่างกาย ส่วนสาหัสหรือไม่นั้น จะต้องดูในส่วนของตรวจร่างกายในส่วนของบาดแผล ด้านนายเรืองศักดิ์ กลับเนียม เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะรับเด็ก และแม่ ไปดูเเลตามสิทธิ์ และจะมีการนำไปตรวจร่างกาย และสภาพจิตใจ และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการในการนำเด็ก และแม่ กลับไปอยู่กับตัวพ่อนั้นจะต้องมีการประเมินอย่างถี่ถ้วนให้ปลอดภัยที่สุด หากประเมินว่ากลับไปแล้วเกิดมีการก่อเหตุซ้ำอีก คงไม่สามารถปล่อยกลับได้.