คปท. ยื่นค้าน “ทักษิณ ชินวัตร” พักโทษ ด้าน ก.ยุติธรรม แจง ไม่เปิดรายชื่อเพราะต้องรักษาสิทธิ์ เหตุอาจมีคนไม่ได้รับการพักโทษ ย้ำ คนเจ็บป่วยหรืออายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ไม่ต้องสวมกำไล EM ส่วนจะถูกอายัดตัวคดี ม.๑๑๒ หรือไม่ อยู่ที่พนักงานอัยการวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำคณะ พร้อมด้วยมวลชน ได้เคลื่อนขบวนพร้อมปราศรัยเพื่อขอเข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นหนังสือขอคัดค้านการพักการลงโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงยุติธรรม โดยมี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม เป็นตัวแทนรับเรื่อง นายสมบูรณ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เบื้องต้นเรายังพูดอะไรมากไม่ได้เพราะเป็นการให้สิทธิ์ ดังนั้น ทุกคนจะรู้ดีว่าครบ ๖ เดือน ถ้าวันไหนก็วันนั้น และถ้าถึงเวลาแล้ว นายทักษิณ มีรายชื่อได้รับการพักโทษ ก็ได้รับสิทธิ์ ซึ่งรายชื่อของผู้ต้องขังที่จะได้รับการพักโทษทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการจะเสนอไปยัง รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม แต่โดยธรรมเนียมแล้วเราจะไม่บอกก่อน เพราะเป็นการละเมิดเขา และถึงเสนอมาบางรายก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ การเปิดเผยไปก่อนก็อาจมีผลกระทบได้ “ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ไม่เคยแถลง แต่จะปรากฏก็ต่อเมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว และแม้ว่าในวันที่จะได้รับการพักโทษจะตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เราก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังตามสิทธิ์ที่เขาได้รับ หลังเที่ยงคืนวันที่จะได้พักโทษ มันก็ถึงวันของเขา ราชทัณฑ์จึงไม่มีสิทธิ์จะเอาตัวผู้ต้องขังอยู่ต่อ แต่การที่จะอยู่ต่อมันก็เป็นการอะลุ่มอล่วยกันว่าวันรุ่งขึ้นอาจจะค่อยปล่อยตัวได้ ตนจึงยังตอบไม่ได้ว่าเที่ยงคืนของวันพักโทษของผู้ต้องขังจะได้ออกเลยหรือไม่ เพราะมันอยู่ที่ข้อเท็จจริงของแต่ละราย” tt ttสำหรับการพักโทษ ปกติคณะอนุกรรมการราชทัณฑ์จะมีการประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว และจะมีรายชื่อจากเรือนจำ ทัณฑสถานทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์ ถูกเสนอขึ้นมายังชั้น รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม กว่า ๑,๐๐๐ รายชื่อในทุกเดือนให้พิจารณา แต่มากที่สุดคือการพักโทษแบบปกติ ประมาณ ๕๐๐-๘๐๐ ราย แต่การพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ จะมีทั้งการเจ็บป่วย อายุมากกว่า ๗๐ ปี หรือเข้าโครงการฝึกฝนทักษะอาชีพ กลุ่มเหล่านี้จะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพักโทษกรณีปกติ แต่ทั้ง ๒ กลุ่มรวมๆ แล้วก็เกือบ ๑,๐๐๐ รายทุกครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาเห็นชอบทุกรายให้ได้รับการพักโทษ เพราะตัวแทนจาก ๑๙ หน่วยงานจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนกรณีเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี ได้ให้สัมภาษณ์ คาดว่าในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อาจมีการเสนอรายชื่อผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิ์การพักโทษมาให้พิจารณานั้น ในกรณีดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ของ รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม เพราะจริงๆ แล้วช่วงเวลาการประชุมในแต่ละเดือน จะมีการรายงานในเดือนถัดไปอยู่แล้ว แต่วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงต้องให้สื่อมวลชนไปสอบถามท่านแทน ส่วนวันนี้ท่านปฏิบัติราชการอยู่ที่ จ.ยะลา แต่ถ้าได้รับรายชื่อจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะต้องสั่งการในนาทีนั้น เพราะต้องผ่านขั้นตอนของรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรมด้วย อีกทั้งกรณีการเพิกถอนการพักโทษนั้นจะมีวาระที่ว่า หากผู้ได้รับการพักโทษไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็สามารถเสนอยกเลิกการพักโทษได้ และนำตัวกลับมาคุมขังที่สถานที่คุมขังอีกครั้ง ซึ่งก็จะเป็นอำนาจของ รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม ในการพิจารณาจากเรื่องที่ถูกเสนอมา ทางด้านคำถามว่า หาก นายทักษิณ ได้รับการพักโทษ จะต้องแจ้งใช่หรือไม่ว่าเมื่อพักโทษจะไปอยู่ที่ใด และใครเป็นผู้อุปการะ ประเด็นนี้จะมีเงื่อนไขระบุว่า ถ้ากรณีมีอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป มีคนอุปการะ หรือให้ความช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ อย่างไร ดังนั้น คนที่ได้รับการพักโทษจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งการพักโทษไม่ได้หมายความว่าพ้นโทษ หรือพ้นจากการควบคุมของกระทรวงยุติธรรม แต่ยังอยู่ในการกำกับดูของกระทรวงยุติธรรม แค่เปลี่ยนจากการรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ไปเป็นกรมคุมประพฤติ และไม่ต้องมีหมายปล่อยของศาล tt tt“ขณะที่เรื่องของการอายัดตัว นายทักษิณ จากคดีมาตรา ๑๑๒ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. และอัยการสูงสุดนั้น ตอนนี้อยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการที่จะต้องพิจารณาร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ส่วนจะอายัดตัวได้หรือไม่นั้น อยู่ที่พนักงานอัยการ ซึ่งขั้นตอนในปัจจุบันต้องเรียนว่ายังอยู่ในกระบวนการที่กรมราชทัณฑ์จะต้องหารือกับอัยการว่า ถ้ามีชื่อ นายทักษิณ ได้รับการพักโทษจริงๆ วันนั้นขั้นตอนจะเป็นอย่างไร แต่ความเห็นหลักและการตัดสินใจจะเป็นของอัยการ โดยที่กรมราชทัณฑ์ก็จะต้องพิจารณาร่วมด้วย”ในเรื่องของการติดหรือไม่ติดกำไล EM ของ นายทักษิณ หากได้รับการพักโทษนั้น นายสมบูรณ์ ขอชี้แจงถึงมติของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ว่า คนเจ็บป่วยหรืออายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ไม่ต้องสวมหรือติดกำไล EM อีกทั้งในกระบวนการของการพักโทษ คณะอนุกรรมการฯ จะไม่ได้มีการระบุว่าต้องทำอะไร เพราะกรมราชทัณฑ์มีระเบียบที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว และกรมคุมประพฤติก็ต้องไปปฏิบัติตามระเบียบนั้น ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม ยืนยันในตอนท้ายว่า ถ้าผู้ต้องขังรายใดที่อายุมากกว่า ๗๐ ปี และเจ็บป่วย มีเหตุร้ายแรง จะไม่มีรายใดที่ได้ติดกำไล EM เพราะถ้าต้องติดกำไล เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็ต้องติดคุก เพราะทำผิดระเบียบกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถปฏิบัตินอกเหนือจากแนวคนอื่นได้ เช่น ให้สัมภาษณ์ว่า นายทักษิณ จะได้รับการพักโทษหรือไม่ อย่างไร เราต้องรักษาสิทธิ์ของแต่ละคน เพราะไม่ได้มีเพียงคนเดียวที่ถูกเสนอชื่อให้คณะอนุกรรมการฯ พักการลงโทษ แต่มีคนที่อาจไม่ได้รับการพักโทษ เราจึงต้องสงวนสิทธิ์ที่จะไม่เอ่ยรายชื่อบุคคลใด.
คปท. ค้าน “ทักษิณ” พักโทษ ยธ. แจงไม่เปิดชื่อ รักษาสิทธิ์ เหตุอาจมีคนไม่ได้พักโทษ
Related posts